xs
xsm
sm
md
lg

“ซูจี” เข้าสภาเป็นครั้งแรกวันนี้ สาบานตนแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน เซ็นชื่อเข้าร่วมการประชุมในเช้าวันอังคาร 2 พ.ค.ศกนี้ ก่อนจะเข้าสู่อาคารรัฐสภา ห้อมล้อมด้วยกองทัพช่างภาพกับผู้สื่อข่าวที่ติดตามบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในรอบกว่า 20 ปี ในขณะที่พม่ากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และในหลากหลายด้าน นางซูจีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านทั้ง 43 คน ได้สาบานตนเข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว ซึ่งรวมทั้งต้องลั่นวาจาจะต้องพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญฉบับของฝ่ายทหารด้วย นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความยินดีปรีดาให้แก่ทุกฝ่าย แม้กระทั่งฝ่ายรัฐบาลเอง. -- AFP PHOTO/Soe Than Win.

เนปีดอ (รอยเตอร์) - นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่าได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วในเช้าวันพุธ 2 พ.ค.นี้ นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่นางได้เข้าร่วมในระบบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่จัดร่างขึ้นมาโดยเหล่านายพล ที่เคยปิดกั้นหนทางของนางซึ่งได้ต่อสู้กับเผด็จการมาเป็นเวลายาวนาน และยังเป็นการร่วมผลักดันการเมืองพม่าเข้าสู่ยุคใหม่

นางซูจีซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2534 ได้เข้าปรากฏตัวในรัฐสภาที่แวดล้อมด้วยเหล่าทหารในเครื่องแบบ ซึ่งอาจจะช่วยเร่งการปฏิรูปที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในประเทศอดีตดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ นับตั้งแต่ปี 2505 ที่ทหารรัฐประหารยึดอำนาจเป็นต้นมา ซึ่งรวมทั้งการปลดปล่อยนักโทษการเมือง และการผ่อนคลายการควบคุมสื่อด้วย

แต่บุตรีผู้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางของนายพลอองซาน บิดาแห่งเอกราชที่ถูกลอบสังหาร ก็กำลังเผชิญกับความยุ่งยากต่างๆ ในการจัดการให้เป็นไปตามความคาดหมายของประเทศที่ไม่อาจอดทนรอคอยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความหวังของชาวพม่าที่มองนางซูจีเป็นจิตวิญญาณแห่งเสรีประชาธิปไตย

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า นางซูจีจะสามารถปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้อย่างระหว่างหาเสียงเลือกตั้งได้เร็วสักเพียงใด รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กองทัพเป็นผู้จัดร่าง ในรัฐสภาที่ยังถูกครอบงำโดยอดีตสมาชิกคณะปกครองทหารที่บริหารประเทศมาเกือบครึ่งศตวรรษก่อนจะยุติลง และมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลกึ่งพลเรือนเมื่อปีที่แล้ว

“มีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้” นางซูจีกล่าว เมื่อผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ถามว่าวันนี้มีความสำคัญอย่างไร ขณะที่นางพยายามเดินแหวกเข้าสู่ภายในอาคาร ซึ่งมีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง (ของ ส.ส.ใหม่) ในการประชุมที่ใช้เวลาเพียงประมาณ 40 นาที

“ฉันได้ตั้งความหวังทางบวกอย่างระมัดระวังเสมอเกี่ยวกับพัฒนาการในเรื่องต่างๆ ในทางการเมืองคุณยิ่งจะต้องมองในแง่ดีอย่างระมัดระวัง” นางซูจีกล่าวกับผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมา

การเข้าสู่รัฐสภาครั้งนี้มีขึ้น 1 เดือนหลังจากชัยชนะแบบถล่มทลายของพรรคการเมืองของนาง ในการเลือกตั้งซ่อม และมีขึ้นหลังจาก 2 วันแห่งการชะงักงันเกี่ยวกับเนื้อความในการสาบานตนของ ส.ส.ใหม่ ที่จะต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

แท้จริงแล้ว สมัยประชุมของรัฐสภาจะสิ้นสุดลงในวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ได้ยืดเวลาออกไปเพื่อให้สมาชิกสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy) ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่

เมื่อเข้าสู่ภายในรัฐสภา นางซูจีได้นั่งลงใกล้กับโซนสำหรับสมาชิกทหารที่แต่งตั้งจากกองทัพ ที่มีจำนวน 25% ของทั้งหมดภายใต้รัฐธรรมนูญ และดูผ่อนคลาย ขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ เข้าไปทักทาย

จากนั้น นางซูจีได้ไปนั่งในที่ของตนเองร่วมกับ ส.ส.ใหม่ที่ทำพิธีสาบานตน ซึ่งรวมทั้งการลั่นวาจาที่จะต้องพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญที่นางต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เนื่องจากให้ฝ่ายทหารมีบทบาทนำทางการเมือง
.
<bR><FONT color=#000033>นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านเดินผ่านบริเวณที่นั่งของผู้แทนจากฝ่ายกองทัพ ระหว่างไปทำพิธีสาบานตนเข้าทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาในเช้าวันจันทร์ 2 พ.ค.นี้ เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการเมืองในพม่า ที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรอบด้าน นางกล่าวว่าไม่รู้สึกลำบากใจใดๆ ที่จะเข้าทำหน้าที่ร่วมกับฝ่ายทหาร เนื่องจาก ฉันมีความปรารถนาดีอย่างมากมายต่อฝ่ายกองทัพ.-- AFP PHOTO/Soe Than Win.</b>
.
**ความปรารถนาดีต่อฝ่ายทหาร **

เมื่อถามว่ารู้สึกท้อแท้อย่างไรหรือไม่ที่จะต้องปฏิบัติงานร่วมกับฝ่ายทหาร นางซูจีตอบว่า “ไม่เลย ฉันมีความปรารถนาดีอย่างมากมายต่อทางฝ่ายทหาร ดิฉันไม่เคยรู้สึกเป็นทุกข์อะไรเมื่อต้องเข้านั่งร่วมกับพวกเขา”

ความเห็นของนางซูจีได้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมากมายในพม่า หากมองจากการที่ฝ่ายกองทัพปฏิบัติต่อนาง รวมทั้งการกักบริเวณครั้งแรกในปี 2532 และนางได้ใช้เวลาถึง 15 ปี จากทั้งหมดในอีก 21 ปีถัดมา อยู่ภายในบ้านพัก จนกระทั่งได้รับอิสรภาพในเดือน พ.ย.2553

สมาชิกหลายคนหวังว่าการเข้าร่วมในรัฐสภาของนางซูจี จะกระตุ้นให้รัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่งเดินหน้าทำการปฏิรูปต่อไป หลังจากอดีตนายพลคนนี้ได้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ทำให้สหภาพแรงงานกับการชุมนุมประท้วงชอบด้วยกฎหมาย และเริ่มการสนทนากับกบฏชนกลุ่มน้อยต่างๆ

“รัฐสภาจะมีฐานะมั่นคงยิ่งขึ้น จากการที่นางมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาคมระหว่างประเทศ” นายคินหม่องยี (Khin Maung Yi) ส.ส.จากพรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Force Party) กล่าว

“พวกเราสมาชิกรัฐสภาต้องการนางเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งนี้เป็นเวลานานมาแล้ว...มีกฎหมายหลายฉบับที่จะต้องเปลี่ยนแปลงและแก้ไข” นายหม่องยีกล่าว

เรื่องราวเกี่ยวกับชัยชนะของนางซูจีต่อโศกนาฏกรรม และความยุงยากต่างๆ เริ่มขึ้นในปี 2531 เมื่อนางได้เดินทางจากชีวิตครอบครัวในประเทศอังกฤษเพื่อไปดูแลมารดาที่กำลังจะสิ้นชีพในกรุงย่างกุ้ง และต่อมาไม่นาน นางซูจีก็ถูกผลักดันเข้าสู่การเมืองขณะที่กำลังมีการประท้วงต่อต้านฝ่ายทหารอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ นางได้ขึ้นปราศรัยต่อฝูงชนนับแสนๆ ก่อนจะถูกจับกุมในปี 2532

อีกหนึ่งปีต่อมา ผู้สมัครพรรค NLD ของนางซูจีจำนวน 392 คน ก็ได้รับชัยชนะเข้าสู่รัฐสภา 486 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งครั้งสำคัญ แต่ระบอบทหารได้ปฏิเสธที่จะส่งมอบอำนาจให้
.
<bR><FONT color=#000033>นางอองซานซูจีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านทั้ง 43 คนสาบานตนเข้าปฏิบัติหน้าที่ในเช้าวันอังคาร 2 พ.ค.ศกนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่หลายฝ่ายเชื่อว่า จะช่วยผลักดันให้การปฏิรูปในพม่าดำเนินต่อไป. --  AFP PHOTO/Soe Than Win. </b>
.
นายเต่อู (Htay Oo) เลขาธิการสหภาพเพื่อความปรองดองและพัฒนา (สวมเสื้อขาว) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ทักทายและสนทนากับนางอองซานซูจีผู้นำฝ่ายค้าน ที่เข้าสาบานตนเข้าปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเช้าวันที่ 2 พ.ค.ศกนี้ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของพม่าที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว. -- REUTERS/Soe Zeya Tun.
.
นางซูจีได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2534 ขณะถูกกักบริเวณในบ้านพักเป็นรอบที่ 3 แม้จะได้รับอิสรภาพในช่วงเวลาสั้นๆ แต่นางก็ปฏิเสธที่จะเดินทางออกจากพม่า ด้วยเกรงว่าฝ่ายทหารจะไม่ให้กลับอีก

นางปฏิเสธที่จะเดินทางออกจากพม่า แม้กระทั่งในช่วงที่ไมเคิล อาริส (Michael Aris) สามีชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดตรวจพบว่า เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในขั้นสุดท้าย จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี 2542

อีก 4 ปีต่อมา นางซูจีรอดพ้นจากความพยามลอบสังหาร เมื่อขบวนรถของนางถูกบุกเข้าโจมตีที่ทำให้ผู้สนับสนุนเสียชีวิตหลายสิบคน เหตุการณ์นี้ทำให้นางถูกควบคุมตัวอีกครั้งหนึ่ง โดยระบอบที่ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างป่าเถื่อน

แต่เมื่อพม่าเปลี่ยนแปลง นางซูจีก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ในขณะที่การท้าทายที่กินเวลานานหลายทศวรรษได้รับเสียงปรบมือจากทั่วโลก การตัดสินใจเข้าร่วมในระบบการเมืองที่ไม่สมบูรณ์ครั้งนี้ ก็ได้รับการยกย่องจากตะวันตก ที่เริ่มผ่อนคลายการคว่ำบาตรพม่าลง

และคำมั่นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อาจเป็นสิ่งที่ทำให้นางต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายทหาร ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วได้แต่งตั้งนายทหารระดับสูงขึ้นเข้านั่งในรัฐสภาตามโควตา 25% นัยว่าเพื่อเสริมพลังให้แก่ฝ่ายกองทัพในสภานิติบัญญัติ

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ฝ่ายตรงข้ามในสหภาพเพื่อการปรองดอง และการพัฒนาแห่งชาติ (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ก็ยังมองว่าการเข้าร่วมของนางซูจีเป็นประโยชน์ต่อรัฐสภาที่มีอำนาจจำกัด

“เมื่อซูจีเข้าร่วมวง ฝ่ายต่างๆ ก็จะแสดงความคิดเห็น และการมองเรื่องต่างๆ หลากหลายและแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น ..งานนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในรัฐสภา” จอโซเล (Kyaw Soe Lay) ส.ส.สังกัด USDP กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น