- ธ.กลางยุโรป มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% ซึ่งอีซีบีคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาเป็นเวลา 8 เดือนติดต่อกันแล้ว โดยก่อนหน้านี้ อีซีบีได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้และปีหน้า พร้อมกับคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งก็ในช่วงปลายปี 2556
- ธ.กลางอังกฤษมีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% นอกจากนี้ ธนาคารกลางอังกฤษยังได้ตัดสินใจที่จะไม่ขยายโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ วงเงิน 3.75 แสนล้านปอนด์
- สำนักงานศุลกากรฝรั่งเศสรายงานว่า ฝรั่งเศสมียอดขาดดุลการค้าในเดือน ม.ค. เพิ่มมากขึ้น แตะ 5.86 พันล้านยูโร จากระดับ 5.42 พันล้านยูโรในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ยอดขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการส่งออกที่อ่อนแอลงในช่วงต้นปี 2556 ขณะที่การนำเข้าก็ลดลงในอัตราที่ช้ากว่า
- ส.สถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส เปิดเผยว่า อัตราว่างงานของฝรั่งเศสในช่วงไตรมาส 4 ปี 2555 เพิ่มขึ้นแตะ 10.6% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 14 ปี จาก 10.2% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจของฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ของฝรั่งเศส ซึ่งให้คำมั่นที่จะลดอัตราการว่างงานภายในสิ้นปีนี้
- ส.สถิติแห่งสหภาพยุโรป รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ของยูโรโซนในไตรมาส 4/2555 หดตัว 0.6% จากไตรมาส 3 และเมื่อเทียบรายปี เศรษฐกิจยูโรโซนหดตัว 0.9% การหดตัวของเศรษฐกิจ เป็นผลมาจากการค้าและการลงทุนที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ จีดีพียูโรโซนหดตัว 0.1% ในไตรมาส 3/2555 ซึ่งการที่จีดีพีหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันนั้นหมายความว่าเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอย
- ก.แรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในรอบสัปดาห์ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 340,000 ราย ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ปรับตัวลดลง 7,000 ราย แตะระดับ 348,750 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2551 จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ปรับตัวลดลง สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐเริ่มฟื้นตัว
- ก.พาณิชย์สหรัฐรายงานว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานหดตัวลง 2.0% ในเดือน ม.ค. เนื่องจากยอดสั่งซื้ออุปกรณ์ขนส่งอ่อนตัวลง คำสั่งซื้อใหม่สำหรับสินค้าคงทน หรือสินค้าที่คาดว่าจะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 3 ปี เช่น คอมพิวเตอร์ รถยนต์ และเครื่องจักร หดตัวลง 4.9% คำสั่งซื้อใหม่สำหรับสินค้าที่ไม่คงทน ซึ่งรวมถึง อาหาร ผลิตภัณฑ์กระดาษ ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ถ่านหิน ดีดตัวขึ้น 0.6%
- สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 267 ต่อ 151 ในการผ่านร่างกฎหมายการสนับสนุนด้านการเงินชั่วคราวระยะ 6 เดือน เพื่อให้รัฐบาลกลางสหรัฐสามารถปฏิบัติงานได้ไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณซึ่งจะสิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยจะช่วยให้รัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานบางส่วนได้
- ส.สถิติแห่งชาติออสเตรเลียเปิดเผยในว่า ยอดขาดดุลการค้าของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ม.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้น 369 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียจากเดือนธ.ค.2555 เนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการลดลง 1% ขณะที่การนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น 1%
- ก.เศรษฐกิจความรู้ของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ยอดส่งออกของอุตสาหกรรมไอที ของเกาหลีใต้ทำสถิติสูงสุดสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ในเดือนที่ผ่านมา โดยยอดส่งออกของอุตสาหกรรมไอทีเพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน แตะที่ 1.185 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะเดียวกัน ยอดนำเข้าสินค้าไอทีหดตัวลง 10.4% ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบกับปีก่อน
- สมาคมผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายยานยนต์เกาหลีใต้ รายงานว่า จำนวนรถยนต์ที่นำเข้าในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรถยนต์แบรนด์หรูจากยุโรปกำลังได้รับความนิยมในบรรดาผู้ซื้อรถในประเทศ โดยยอดขายรถยนต์นำเข้าเดือน ก.พ.ปรับตัวขึ้น 14.8% จากปีก่อนหน้า
- ธ.กลางญี่ปุ่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.1% นอกจากนี้ บีโอเจยังไม่ประกาศผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้ บีโอเจยังคงขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ไว้ที่วงเงิน 101 ล้านล้านเยน พร้อมกับปรับเพิ่มการประเมินเศรษฐกิจ โดยระบุว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวขึ้น
- รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลงในเดือน ม.ค. โดยดัชนีปัจจัยพ้องเศรษฐกิจ ซึ่งประเมินภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น ผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการจ้างงานใหม่ ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 92.0 จากระดับ 92.3 ในเดือนพ.ย.
- ก.การคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.พ.ลดลง 8.49 พันล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 1.2588 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงก็คือมูลค่าของสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินยูโรที่ปรับตัวลดลง จากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
- คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน แถลงว่า จีนมีจุดประสงค์ในการเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศผ่านการเพิ่มรายได้และค่าใช้จ่ายในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม ทั้งนี้ การบริโภคมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน โดยในปี 2555 การบริโภคคิดเป็นสัดส่วน 51.8% ของการขยายตัวของจีดีพีจีน
- เจพี มอร์แกน เชส ระบุในรายงานการวิจัยล่าสุดว่า เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวในปีนี้ หลังจากที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวและจีนหยุดระบายสินค้าในสต็อก พร้อมกับคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จะขยายตัว 8.2% ในปีนี้ พร้อมคาดการณ์ว่ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่ของจีนจะอยู่ที่ 9.1 ล้านล้านหยวนในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบรายปี
- ต้ากง โกลบอล เครดิต เรทติ้ง ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินในประเทศของไต้หวันไว้ที่ระดับ AA- โดยคาดว่าแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไต้หวันจะยังคงมีเสถียรภาพในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพในการขยายตัวที่ระดับสูงและความสามารถในการชำระหนี้ที่แข็งแกร่ง
- ธ.กลางอินโดนีเซียได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 5.75% ในการประชุม ซึ่งถือเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมติดต่อกันมา 13 ครั้ง ขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจนทำให้โอกาสที่ธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ยมีน้อยลง และเศรษฐกิจก็ยังคงชะลอตัวอยู่
- ธ.กลางมาเลเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 3.00% ในการประชุม ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุมครั้งที่ 11 ติดต่อกัน หรือนับตั้งแต่กลางปี 2554 โดยให้เหตุผลในการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ว่าเป็นเพราะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ขณะที่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงมีแนวโน้มที่สดใส
- SET Index ปิดที่ 1,560.98 จุด เพิ่มขึ้น 1.63 จุด หรือ +0.1% มูลค่าซื้อขาย 66,085 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 461.97 ล้านบาท ทั้งนี้ บรรยากาศการลงทุนเป็นบวกเมื่อยอดการจ้างงานภาคเอกชนและรายงาน Beige Book ของสหรัฐฯที่ออกมาเชิงบวก รวมถึงตลาดหุ้นยุโรปที่เปิดบวก หลัง S&P ปรับแนวโน้มโปรตุเกสขึ้นเป็นคงที่ จากเดิมลบ รวมถึงแรงเก็งกำไรต่อการประชุม ECB ต่อการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไม่มีการเปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 14 วัน วงเงิน 30,000 ล้านบาท
บริษัท MAPLECROFT ได้ออกรายงานฉบับใหม่ออกมา เกี่ยวกับความเสี่ยงของผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากภัยธรรมชาติ โดยบริษัทได้ทำการสำรวจ 197 ประเทศกับภัยธรรมชาติ 12 ประเภท (เช่น น้ำท่วม พายุไซโคลน แผ่นดินไหว) ผลปรากฏว่า มีประเทศเกิดใหม่หลายประเทศที่เมื่อประสบปัญหาภัยธรรมชาติแล้ว จะกระทบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้นเป็นอย่างมากเช่น บังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและจีน โดยประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติในหลายรูปแบบ แต่ยังขาดความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เพราะประเทศเหล่านี้ยังไม่มีความสามารถในการที่จะพลิกเศรษฐกิจกลับมาให้เป็นปกติอย่างรวดเร็วติเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจ ห่วงโซ่อุปสงค์อุปทานและการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ยกตัวอย่างเช่น ผลกระทบจากพายุเฮอริเคนแซนดี้ที่อเมริกา และ พายุไต้ฝุ่นโบพาที่ฟิลิปปินส์
ไต้ฝุ่นโบพาคร่าชีวิตชาวฟิลิปปินส์ 1,000 คน ในขณะที่ เฮอริเคนแซนดี้คร่าชีวิตชาวอเมริกันไป 110 คนถึงแม้ว่าจำนวนประชากรที่อยู่ในเส้นทางการเคลื่อนตัวของเฮอริเคนแซนดี้จะมีมากกว่า เพราะสหรัฐมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายการสื่อสารที่ดี ดังนั้น จึงมีนักวิเคราะห์หลายคนที่สนับสนุนให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ออกมาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยลดความเสี่ยงของภัยธรรมชาติ เพราะเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันเชื่อมโยงถึงกันหมด และประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ก็ก้าวขึ้นมามีความสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก ถ้าเกิดภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงต่อประเทศเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย