xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนหนุนไทยฮับซ่อมเครื่องบิน จี้คมนาคมเร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ประกอบการผลิตและซ่อมอากาศยานจี้แก้ปัญหาจราจรและกฎระเบียบการนำเข้า ก่อนตัดสินใจขยายโรงงาน “ชัชชาติ” สั่ง บพ.เร่งศึกษาทำโรดแมปเดินหน้าผุดนิคมอุตสาหกรรมการบินดันไทยเป็นฮับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศหวังดึงแอร์เอเชียใช้ไทยเป็นฐานการบินครบวงจร ชี้ตลาดโลว์คอสต์และการบินในเอเชียแปซิฟิกเติบโตสูงสุด

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม สมาคมการค้าไทย-ยุโรป ได้นำผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการบิน 3-4 บริษัทเข้าพบ เช่น บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยาน จากประเทศอังกฤษ บริษัท ไทรอัมพ์ เอวิเอชั่น เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด ผู้ซ่อมชิ้นส่วนอากาศยาน (MRO) โดยภาคเอกชนเห็นด้วยกับนโยบายนิคมอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน แต่เห็นว่าควรจะต้องมีโรดแมปที่ชัดเจน และเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคเช่น กฎระเบียบ การขาดแคลนแรงงานมีฝีมือและช่างเทคนิคและปัญหาการจราจรที่ทำให้การเดินทางไม่สะดวกและมีต้นทุนสูง

ทั้งนี้ ผู้ประกอกการต้องการความมั่นใจเพื่อขยายโรงงานเพิ่มไลน์การผลิตในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ตั้งโรงงานที่อีสเทิร์นซีบอร์ด และจังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้ยืนยันว่าจะแก้ปัญหาเร่งด่วนให้ก่อน เช่น ปัญหาจราจรบริเวณนิคมอุตสาหกรรม การขาดแคลนบุคลากร ช่างฝีมือ โดยทางสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ได้ประสานกับมหาวิทยาลัยจัดโปรแกรมการเรียนการสอนให้สอดคล้อง รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจ เช่น นำเข้าสีสำหรับอุตสาหกรรมการบิน ผู้ประกอบการระบุว่า สีจะมีส่วนผสมที่แตกต่างและอาจไม่สามารถแสดงรายละเอียดได้ทั้งหมดตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องการเพราะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

นายชัชชาติกล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เร่งหาที่ปรึกษาเข้ามาช่วยวางแผนและการจัดทำโรดแมปการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยเบื้องต้นได้ตั้งอนุกรรมการ 3 ชุด คือ ด้านการฝึกอบรมบุคลากร ด้านสิทธิประโยชน์ และด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน โดยอุตสาหกรรมการบินมีการเติบโตสูงโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงสุดในขณะนี้ ขณะที่รายได้เฉลี่ยของผู้ประกอบการในประเทศไทยประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

“นายกฯ มอบหมายให้ผมเป็นประธานเรื่องนี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ที่ผ่านมาการพัฒนาไม่คืบหน้าเพราะอาจจะยังไม่เข้าใจ โดยเมื่อมีโรดแมปแนวทางจะชัดเจนขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้อยู่ในสนามบิน โดยบีโอไอต้องเข้าไปช่วยส่งเสริมการลงทุนก่อนเพราะระยะแรกอุตสาหกรรมการบินจะไม่ค่อยใหญ่มาก ขณะที่ไทยตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางทั้งด้านการฝึกอบรม การผลิต และการซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นไปได้ จะดึงสายการบินกลุ่มแอร์เอเชียใช้ไทยเป็นฮับในการซ่อมบำรุง เพราะที่ตั้งของไทยเหมาะสม โดยจากนี้ทุกๆ เดือนจะมีการหารือเพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาและการจัดทำโรดแมป” นายชัชชาติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น