xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการตัดงบรายจ่ายที่ยังตกลงกันไม่ได้ที่จะมีผลพรุ่งนี้และผลกระทบจากถ้อยแถลงของ Fed

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐและผู้นำสมาชิกสภาคองเกรสพรรครีพับลิกันยังคงยืนกรานจุดยืนเดิมของตนเองที่มีต่อประเด็นเรื่องการแก้ไขวิกฤติงบประมาณเมื่อวานนี้ ถึงแม้ว่าทั้งสองฝ่ายจัดการเจรจาเพื่อพยายามสกัดกั้นมาตรการตัดงบรายจ่ายของรัฐบาลโดยอัตโนมัติ (sequestration) ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้
ในวันศุกร์นี้ก็ตาม
        หน่วยงานต่างๆของรัฐบาลคาดว่า sequestration ซึ่งมีขนาด 8.5หมื่นล้านดอลลาร์จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์นี้ ดังนั้นหน่วยงานรัฐบาลจึงเริ่มต้นปรับลดต้นทุน และเริ่มแจ้งลูกจ้างว่าทางหน่วยงานจะใช้วิธีการใดในการดำเนินมาตรการสั่งพักงานลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าตอบแทน
        ปธน.โอบามาและผู้นำสมาชิกสภาคองเกรสซึ่งรวมถึงผู้นำพรรครีพับลิกันจะประชุมกันที่ทำเนียบขาวในวันศุกร์นี้ โดยตลาดคาดว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่การประชุมดังกล่าวจะส่งผลให้มีการบรรลุข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยง sequestration
        ถ้าหาก sequestration มีผลบังคับใช้ บริการภาครัฐทั่วประเทศสหรัฐก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมถึงการควบคุมการจราจรทางอากาศ, การตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหาร และการศึกษา
        Sequestration เป็นผลสืบเนื่องมาจากกฎหมายในปี 2011 ที่มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขวิกฤติการคลังในปีนั้น อย่างไรก็ดี ทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันต่างก็ไม่ชื่นชอบ sequestration เพราะ sequestration จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่นักการเมืองไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องวิธีการหลีกเลี่ยง sequestration
        ถ้าหากสภาคองเกรสต้องการยับยั้ง sequestration สภาคองเกรสจะต้องบรรลุข้อตกลงกันให้ได้ในวันศุกร์ในการตัดลดงบใช้จ่ายลงในระดับที่ไม่รุนแรงเท่า sequestration ทั้งนี้ sequestration จะส่งผลกระทบต่อโครงการสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเดโมแครต และจะส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านกลาโหม ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรครีพับลิกันให้ความสำคัญ
        ปธน.โอบามายังคงยืนกรานข้อเรียกร้องเดิมที่ว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันจะต้องยอมรับการปรับขึ้นภาษีผ่านทางการยุติช่องโหว่ทางภาษีสำหรับคนรวย โดยสิ่งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้วิธีการแบบสมดุลในการหลีกเลี่ยง sequestration
        นายเจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่า "ไม่มีทางเลือกอื่นอีกในการใช้วิธีการแบบสมดุลในความเห็นของประธานาธิบดี"
        ปธน.โอบามาต้องการให้ยุติมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทน้ำมันและก๊าซ และต้องการปรับขึ้นอัตราภาษี carried interest สำหรับกองทุนเฮดจ์ฟันด์
        อย่างไรก็ดี สมาชิกพรรครีพับลิกันไม่มีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับปธน.โอบามาหลังจากสมาชิกพรรครีพับลิกันยอมตกลงปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้สำหรับคนรวยไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ fiscal cliff ในเดือนธ.ค.
 
             สหรัฐเผยแผนลงทุนภาคธุรกิจพุ่งสูงสุดรอบ 13 เดือน ใน ม.ค.  ดัชนีชี้วัดแผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจสหรัฐเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 1 ปีในเดือน ม.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อความยั่งยืนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
        การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังได้แรงหนุนจากรายงานอีกฉบับที่ระบุว่าสัญญาซื้อบ้านมือสองพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีในเดือน ม.ค. และคาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้
        ยอดสั่งซื้อสินค้าทุนยกเว้นอาวุธและเครื่องบินพุ่งขึ้น 6.3% ในเดือนม.ค.ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดตั้งแต่เดือนธ.ค. 2011 หลังจากลดลง 0.3% ในเดือนธ.ค.
        "ท่าทีที่สดใสจากรายงานฉบับนี้บ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจกำลังเริ่มที่จะมีความเชื่อมั่นมากพอเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นที่จะดำเนินกิจกรรมการลงทุนต่อไป" มิลลาน มูลเรน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากบล.ทีดีกล่าว
        ขณะเดียวกัน สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติเปิดเผยว่า ดัชนียอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เพิ่มขึ้น 4.5% สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2010 ก่อนที่มาตรการลดหย่อนภาษีผู้ซื้อบ้านจะสิ้นสุดลง
        การเพิ่มขึ้นของสัญญาซื้อดังกล่าวประกอบกับข้อมูลการอนุญาตก่อสร้างและราคาบ้านในช่วงที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว
        การสร้างบ้านหนุนการขยายตัวในปีที่แล้วเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2005 และนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวอีกครั้งในปีนี้
        แต่รายงานดังกล่าวอาจจะไม่เปลี่ยนจุดยืนด้านนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดแถลงต่อสภาคองเกรสเป็นวันที่ 2 โดยระบุถึงการปรับตัวดีขึ้นของตลาดบ้านว่าเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงรุกของเฟดกำลังมีประสิทธิผลมากขึ้น
        การปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2012 กำลังส่งผลกระทบต่อราคาทองในช่วงนี้ ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าการถือครองทองอาจทำให้ตนเองสูญเสียรายได้
        ปกติแล้วราคาทองมักจะได้รับแรงหนุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเพราะทำให้ค่าเสียโอกาสจากการถือครองทองอยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย โดยทองเป็นโลหะที่ไม่มีอัตราผลตอบแทน ดังนั้นนักลงทุนจะได้รับผลกำไรก็ต่อเมื่อราคาทองปรับตัวขึ้น
        อย่างไรก็ดี ถึงแม้ธนาคารกลางชั้นนำหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปี กลับพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 2 % ในระยะนี้จากสถิติต่ำสุดที่ 1.4 % ในเดือนก.ค. 2012
        ทางด้านอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ -0.56 %ในสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ -0.9 % ในเดือนธ.ค. โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงคืออัตราดอกเบี้ยที่หักลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของเงินทุน
        อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ระดับต่ำมากเคยเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาทองในช่วงก่อนหน้านี้ โดยราคาทองปรับตัวขึ้นมานานติดต่อกัน 12 ปี และขึ้นไปทำสถิติสูงสุดที่1,920.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในเดือนก.ย. 2011
        ราคาทองร่วงลงในช่วงต่อมา ในขณะที่เศรษฐกิจจีนและสหรัฐปรับตัวดีขึ้นและสถานการณ์ในยุโรปเริ่มเข้าสู่เสถียรภาพ โดยปัจจัยต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้นักลงทุนลดความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่แรงเทขายของกลุ่มกองทุนส่งผลให้ราคาทองร่วงลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 7 เดือนที่ 1,554.59 ดอลลาร์ในวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา
        นายแมทธิว เทอร์เนอร์ นักวิเคราะห์โลหะมีค่าของธนาคารแมคควารีกล่าวว่า "การปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงน่าจะส่งผลลบต่อราคาทองและราคาทองก็ได้รับแรงกดดันจากความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับเปลี่ยนจุดยืนด้วย"
        รอยเตอร์ได้สำรวจความเห็นนักยุทธศาสตร์การลงทุนตราสารหนี้เกือบ60 รายในเดือน ธ.ค. โดยผลสำรวจคาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวจะปรับตัวสูงขึ้น และจะดึงดูดเงินลงทุนเข้าสู่พันธบัตร
        โพลล์รอยเตอร์คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีอาจพุ่งขึ้นสู่ 2.30 % ก่อนสิ้นปี 2013 ขณะที่อัตราผลตอบแทนดังกล่าวอยู่ที่ 1.886 % ในช่วงท้ายตลาดวานนี้
        ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกซึ่งถือเป็นมาตรวัดการลงทุนแบบเสี่ยงสูง ได้พุ่งขึ้นแตะระดับก่อนเกิดภาวะสินเชื่อหดตัว โดยดัชนี MSCI สำหรับหุ้นทั่วโลกพุ่งขึ้นแตะ359 ในวันที่ 20 ก.พ. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่สิ้นเดือนมิ.ย. 2008 ในขณะที่มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สดใสในช่วงนี้
        นายโรบิน บาร์ นักวิเคราะห์ของธนาคารโซซิเอเต้ เจเนอราล กล่าวว่า"เราคิดว่า tail risk (ความเสี่ยงที่ระบบการเงินจะล่มสลาย) กำลังปรับลดลงในช่วงนี้ และถ้าหากสมมุติฐานของเราถูกต้อง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็จะปรับตัวขึ้นจากแดนลบสู่แดนบวก และราคาพันธบัตรจะร่วงลง"
        "สถานการณ์ดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น และไม่ได้รับแรงกระตุ้นให้เข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเช่นทอง"
        ถึงแม้นักวิเคราะห์ไม่คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะพุ่งขึ้นสูงมากนักจากระดับปัจจุบัน แต่นักวิเคราะห์ก็คาดว่า วัฏจักรเศรษฐกิจที่สะท้อนออกมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะยังคงเป็นปัจจัยลบต่อราคาทอง
        นายไมเคิล วิดเมอร์ นักวิเคราะห์ของธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกาเมอร์ริล ลินช์ กล่าวว่า "เราคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอาจจะไม่พุ่งขึ้นมากนัก แต่จะปรับสูงขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจประเทศสำคัญขยายตัวเร็วขึ้น และปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะส่งผลให้นักลงทุนใช้ความระมัดระวังอย่างมากต่อการลงทุนในทอง"
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น