ทช.เวิร์กชอปโครงการก่อสร้างสะพานข้ามเจ้าพระยาเชื่อมสมุทรปราการ-สมุทรสาคร 60 กม. มูลค่า 4.79 หมื่นล้าน “ประเสริฐ” ดันใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านเร่งเสร็จในปี 62 เพื่อแก้ปัญหาจราจร กทม.ด้านใต้ เผยปัจจุบันสะพานกาญจนาภิเษกและภูมิพลจราจรติดขัดหนัก เชื่อลดต้นทุนลอจิสติกส์ได้มากเหตุช่วยรองรับขนส่งของโรงงานอุตสาหกรรม สั่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนลดเสียงค้าน ทช.แบ่ง 3 ช่วง ยอมรับค่าก่อสร้างสูงเพราะพื้นที่เป็นดินอ่อน
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนเชื่อมต่อจังหวัดสมุทรปราการ-สมุทรสาคร” โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สะพานแห่งนี้มีความจำเป็นเนื่องจากจะช่วยแบ่งเบาการจราจรทางด้านใต้ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งปัจจุบันมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แห่ง คือ สะพานกาญจนาภิเษก และสะพานภูมิพล ซึ่งมีสภาพจราจรติดขัด มีปริมาณจราจรเกือบเต็มขีดความสามารถ 133,000 คัน/วัน มีความเร็วเฉลี่ย 20 กม./ชม. ซึ่งภายในปี 2574 ปริมาณจราจรจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20.6% ซึ่งจะเกินศักยภาพ โดยที่ผ่านมากรมโยธาธิการร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ศึกษาและระบุถึงพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างจุดเชื่อมต่อสะพาน คือ บริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยในปี 2557 จะเป็นการออกแบบก่อสร้าง ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างในปี 2559 จากแผนที่จะเริ่มปี 2560 ซึ่งจะทำให้เปิดใช้สะพานได้เร็วขึ้นจากปี 2563 เป็นปี 2562
ทั้งนี้ ประมาณลงทุนโครงการเบื้องต้น 47,947 ล้านบาท โดยส่วนของค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 7,900 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดขณะนี้บรรจุใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทแล้ว ส่วนค่าก่อสร้างนั้นหากได้รับใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทด้วยก็จะทำให้โครงการรวดเร็วขึ้นแต่หากไม่ได้อาจจะต้องกู้เงินจากไจก้า หรือลงทุนแบบ PPP
“เป็นโครงการใหญ่เพราะลงทุนเกือบ 5 หมื่นล้าน จึงต้องเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเพื่อความรอบคอบและสามารถแก้ปัญหาได้ทันทีในแต่ละขั้นตอน เพราะนอกจากช่วยบรรเทาปัญหาจราจรแล้ว ยังจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงได้แน่นอน เนื่องจากการเดินทางใช้เวลาน้อยลง การใช้พลังงานลดลง” นายประเสริฐกล่าว
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนเชื่อมต่อจังหวัดสมุทรปราการ-สมุทรสาครเป็นสะพานที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันดับ 2 ในแผนแม่บทการพัฒนาและบูรณาการโครงข่ายถนนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและการจราจรในเขต กทม.และปริมณฑล ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาไว้ทั้งสิ้น 11 แห่ง นอกจากนี้ ทช.ยังได้รับมอบหมายให้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณสนามบินน้ำ แต่ไม่เร่งด่วนมากนัก
โดยจะแบ่งการประมูลเป็น 3-4 สัญญาเพื่อความรวดเร็วในการก่อสร้าง สำหรับการศึกษาเบื้องต้นจะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนเชื่อมต่อบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยจุดที่ผ่านพื้นที่เกาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชุมชน จะยกระดับให้สูงเพื่อลดผลกระทบ และยอมรับว่า การก่อสร้างบนพื้นที่ดินอ่อนทำให้ค่าก่อสร้างสูงขึ้น ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างถนนยกระดับ และสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง มูลค่ารวม 45,886 ล้านบาท ระยะทางรวม 60 กม.แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1. จากถนนเทพารักษ์ถึงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ (จุดบรรจบถนนเทพารักษ์-วัดแหลมฟ้าผ่า) เป็นถนนยกระดับ 6 ช่องจราจร ระยะทาง 19.55 กม. และสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาความยาว 1,120 เมตร มูลค่า 22,441 ล้านบาท
ช่วงที่ 2 ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาถึงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร (วัดแหลมฟ้าผ่า-จุดตัดทางหลวงหมายเลข 3423 กับทางหลวงชนบท สาย สค.4017) เป็นถนนยกระดับ 6 ช่องจราจร ระยะทางรวม 26.80 กม. มูลค่า 16,278 ล้านบาท
ช่วงที่ 3 ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนถึงถนนพระราม 2 (จุดตัดทางหลวงหมายเลข 3423 กับทางหลวงชนบท สาย สค. 4017-จุดบรรจบถนนพระราม 2 ทางหลวงหมายเลข 35 รวมสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน) เป็นถนนยกระดับ 6 ช่องจราจร ระยะทาง 13.44 กม. และสะพานคอนกรีตอัดแรงข้ามแม่น้ำท่าจีนความยาว 1,000 เมตร มูลค่า 7,167 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่ กทม.ด้านใต้ มีการขยายตัวของเมืองและประชากรสูง การเดินทางเข้าเมืองเพิ่มทำให้เกิดปัญหาจราจร โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีทั้งชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมอยู่กันอย่างหนาแน่น โดยปริมาณจราจรสะพานภูมิพลจะเพิ่มขึ้น 6.45% ในปี 2564 และสะพานกาญจนาภิเษกจะเพิ่มขึ้น 35.14% ส่วนแม่น้ำท่าจีน ผ่านถนนพระราม 2 คาดว่าใน 10 ปี (2565) ปริมาณจราจรจะเพิ่มขึ้น 60%