“พรายพล” เตือนนโยบายบางรัฐบาลมีข้อบกพร่อง นโยบายการคลังใช้จ่ายมาก ขาดดุลงบประมาณ และยังขาดวินัยทางการเงิน ส่วนข้อแนะนำด้านนโยบายการเงินการคลังในภาพรวมนั้นเสนอไว้ว่ารัฐบาลต้องระวัง รวมทั้งเรื่องเงินเฟ้อ
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย โดยมองว่ามีหลายเรื่อง เริ่มที่จีดีพี ซึ่งตอนนี้เดินมาดีพอควร ข้อมูลปี2555 จีดีพีอยู่ที่ 6.4% สูงขึ้นจากปี 2554 ที่ตกต่ำพอจากเหตุน้ำท่วม และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดี ฉะนั้น จีดีพีแทบจะไม่เติบโตหากเป็นภาวะปกติจีดีพีจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จีดีพีปีที่แล้วจึงเติบโตแท้จริงเพียง 3% ที่มาจากการใช้จ่ายของภาคเอกชน ส่วนภาครัฐก็ใช้จ่ายมากพอควรในการชดเชยสิ่งต่างๆ จึงผลักดันจีดีพีให้เติบโตตามที่ระบุ ส่วนจะเติบโตอย่างยั่งยืนหรือไม่นั้น มีสิ่งที่น่าห่วง คือ นโยบายบางอย่างของรัฐบาลมีข้อบกพร่อง เช่น นโยบายการคลัง เพราะรัฐบาลใช้จ่ายมาก และบางส่วนขาดดุลงบประมาณ และยังขาดวินัยทางการเงินการคลังที่นำไปสู่การทุจริต เช่นการจำนำข้าว รวมทั้งยังนำไปสู่หนี้สาธารณะที่สูงขึ้น
นายพรายพลกล่าวว่า หนี้สาธารณะอยู่ที่ 40% ของจีดีพี ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันมีการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายทุกปี โดยหนี้ที่สะสมขนาดใหญ่หากเทียบกับภาคเศรษฐกิจเพราะรัฐบาลจะชำระหนี้ได้ก็ต้องมาจากการเก็บภาษีที่มากขึ้น ตอนนี้เห็นว่าการจัดทำงบประมาณต้องทำให้ดีขึ้น คือ ขาดดุลน้อยลงเพื่อไปสู่จุดสมดุล แต่ไม่รู้ว่าใช้เวลากี่ปี และงบของรัฐบาลในการลงทุนก่อสร้างมีเปอร์เซ็นต์น้อย เพราะโดยหลักเกณฑ์นั้นงบด้านนี้อยู่ที่ 25% ต่อปี ปัจจุบันอยู่ที่ 10%
ส่วนกรณีที่รัฐบาลตั้งนงบเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทในการจัดการระบบน้ำนั้น ตอนนี้ใช้ไป 1 หมื่นกว่าล้านบาท เท่ากับว่ายังไม่มีการกู้เงินนี้มาใช้ แต่รัฐบาลขาดดุลตรงนี้ไปแล้ว และงบระบบขนส่ง 2 ล้านล้านบาทนั้น โดยต้องลงทุนสิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์และยั่งยืนแต่ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น
นายพรายพลกล่าวว่า ส่วนเสถียรภาพทางราคานั้นไม่เป็นปัญหาในช่วง 2-3 ปี เงินเฟ้อที่เป็นดัชนีผู้บริโภคเติบโตปีละ 3% ซึ่งเป็นอัตราปกติ แม้ประชาชนรู้สึกว่าราคาสินค้า เช่น อาหารแพงขึ้นก็ตาม และทาง ธปท.ก็เตือนไว้เพราะราคาน้ำมันจะมีราคาสูงขึ้นในปีนี้
ส่วนเสถียรภาพทางการเงิน หลังจากที่ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ 2.75% โดยอ้างเหตุผลว่าอัตรานี้ต่ำอยู่แล้ว และเศรษฐกิจไทยจริงๆ แล้วนั้น เริ่มขยายตัวดีและไม่จำเป็นต้องกระตุ้น หากลดดอกเบี้ยจะกดดันกับการใช้จ่ายและนำไปสู่ภาะฟอกสบู่ ในตอนนี้ที่เห็นจากราคาหุ้นที่สูงขึ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีอาการที่จะแพงขึ้น ตรงนี้มีผลกับเศรษฐกิจมหภาค แม้ว่า รมว.คลังจะมีหนังสือต่อประธานบอร์ด ธปท.ให้ลดอัตราดอกเบี้ย เพราะไทยมีดอกเบี้ยสูงกว่าต่างประเทศ ทำให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามามากในระยะสั้นที่จะมาหากำไรกับส่วนต่างของดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินบาทตอนนี้แข็งตัวและมีผลกับการส่งออกที่อาจแย่ลงต่อเนื่องจากเหตุน้ำท่วม
ส่วนข้อแนะนำด้านนโยบายการเงินการคลังในภาพรวมนั้น ตนเสนอไว้ว่ารัฐบาลต้องระวังขึ้น หากจำเป็นต้องลงทุนก็กระทำได้ แต่ต้องระวังจุดรั่วไหลที่ตนระบุไว้ข้างต้น และควรระวังเงินเฟ้อ อีกทั้ง ธปท.ต้องแทรกแซงเงินต่างประเทศไหลเข้ามา เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งตัวเร็วกว่าที่เป็น และหากบางครั้งจำเป็นต้องใช้มาตรการที่จำเป็นก็ต้องทำ โดยควรอยู่ในทิศทางที่น่าจะเป็นก็เพียงพอ