xs
xsm
sm
md
lg

“สรรเสริญ” หวั่น “โต้ง” โกหกสีขาวอีก ชี้ พ.ร.ก.กู้ 2.2 ล้านล้านทำหนี้สาธารณะพุ่ง-ส่อทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
ส.ส.กทม.ปชป.ชี้รัฐบาลจ่อออก พ.ร.ก.กู้ 2.2 ล้านล้าน วางปีละ 3 แสนล้าน 7 ปี หวั่นซ้ำรอย พ.ร.ก.กู้เงินจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านล่าช้า-ส่อทุจริต ส่วนกรณี “กิตติรัตน์” เผยหนี้สาธารณะพุ่งไม่เกิน 50% เกรงโกหกสีขาวอีกรอบ ชี้มีการโปะหนี้ไปส่วนอื่น หวั่นปี 2562 หนี้พุ่ง 10.2 ล้านล้าน สูงถึง 57% วอนทบทวนโครงการไม่สำคัญ-นำเข้า พ.ร.บ.งบประมาณแทน

วันนี้ (29 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงินโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาทว่า การที่รัฐบาลวางแนวทางการใช้เงินดังกล่าวปีละ 3 แสนล้านบาท ผูกพันระยะเวลา 7 ปี ถือว่าอยู่ในวิสัยที่จะบรรุเข้าอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามขั้นตอนปกติของวิธีการงบประมาณได้ แต่การที่รัฐบาลจะออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงินฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน ตนกลัวว่าจะซ้ำรอยกับการใช้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่มีความล่าช้า และมีข้อครหาว่ามีการทุจริต จึงอยากให้รัฐบาลแสดงความจริงใจต่อสภาฯ และประชาชน ในการนำงบกู้เงินนี้มาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ทั้งนี้ ปชป.เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นห่วงขั้นตอนการบริหารเงินว่าจะเกิดความไม่โปร่งใส และเกิดการทุจริตได้

ส่วนกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ปาฐกถาว่าหนี้สาธารณะจะไม่พุ่งเกิน 50% แม้แต่วินาทีเดียวนั้น นายสรรเสริญกล่าวว่า ตนเกรงว่าจะเป็นการโกหกสีขาวอีกรอบหรือไม่ เพราะมีการหลีกเลี่ยงนำหนี้บางส่วนไปโปะไว้ในส่วนอื่น เช่น เงินขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวปีละ 2 แสนล้านบาท มีการนำไปรวมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และยังไม่รวมหนี้จากโครงการฟื้นฟูปีละ 1 ล้านล้านบาท จึงทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% แต่ความจริงตนพบว่าขณะนี้หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 4.8 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เงินขาดดุลงบประมาณในปี 2556 จำนวน 3 แสนล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 2557 จำนวน 2.2 แสนล้านบาท ขาดทุนจำนำข้าวปีละ 2 แสนล้านบาท และรวมกับการกู้เงินใน พ.ร.ก.กู้เงินโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท ที่ผูกพัน 7 ปี ปีละ 3 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ขาดดุลงบประมาณต่อไปปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากประเมินจากจีดีพีที่ 4% เงินเฟ้อ 3% จะทำให้ปีหน้าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 52% และในปี 2562 หนี้สาธารณะจะเพิ่มเป็น 10.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 57% ของจีดีพี หมายความว่าประชาชนจะต้องมีการนำเงินภาษีไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ถึงปีละ 3 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงของให้รัฐบาลทบทวนโครงการที่ไม่สำคัญและนำ พ.ร.ก.กู้เงินโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาทเข้าพิจารณาในงบประมาณรายจ่ายประจำปีแทน


กำลังโหลดความคิดเห็น