xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ยื่น “วสันต์” ชี้ รบ.ทำผิดวัตถุประสงค์ พ.ร.ก.จัดการน้ำ คาดส่อกู้ซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรณ์” ยื่นจดหมายเปิดผนึก ปธ.ศาล.รธน. ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน.ให้รัฐออก พ.ร.ก.กู้เงินเยียวยาน้ำท่วมปี 54 ได้ แต่รัฐไม่ได้มีการดำเนินการตามโครงการที่ยื่นต่อศาลจริง ส่งผลให้รัฐอ้างคำวินิจฉัยเป็นเกราะกำบังเลี่ยงการตรวจสอบ เชื่อรัฐเตรียมกู้ 2.2 ล้านล้านบาททั้งที่ยังใช้เงิน 3.5 ล้านไม่หมดภายใน 30 มิ.ย.นี้

วันนี้ (28 ม.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 โดยระบุว่า หลังจากที่ได้ติดตามการใช้งบประมาณ รัฐบาลกลับไม่มีแผนใช้จ่ายเงินกู้และและไม่ปรากฏโครงการจัดการน้ำของรัฐบาล ดำเนินการเป็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เนื่องจากการมีการยอดเบิกจ่าย 4,639.34 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบยอดเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ก็เท่ากับว่ามีการเบิกจ่ายไปประมาณร้อยละ 1 ของยอดเงินกู้ทั้งหมดเท่านั้น ทั้งที่ระยะเวลาล่วงเลยมาแล้ว 1 ปี ไม่สอดคล้องกับข้ออ้างของรัฐบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และยังพบว่าเงินที่เบิกจ่ายไปแล้วมีการเบิกจ่ายในส่วนอื่น ไม่ใช่กระบวนจัดการบริหารน้ำ

“จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมิได้ดำเนินการตามคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้น แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล และจากยอดเงินกู้และยอดค่าใช้จ่ายตลอดปี 55 ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า รัฐบาลสามารถบรรจุรายการใช้จ่ายเงินดังกล่าว ไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ 55 หรือใช้วิธีการกู้เงินตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ 2548 หรือออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องมีการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้แต่อย่างใด แต่รัฐบาลกลับหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการตามวิถีทางดังกล่าว” นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีก 5 เดือน ยังไม่มีแผนหรือโครงการที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นการที่รัฐบาลจะกู้เงินในส่วนที่เหลือทั้งหมดมาก่อน ครบระยะเวลากู้เงิน และใช้วิธีการตามโครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้อนุมัติจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี นำมาสอดแทรกเข้าโครงการของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อสามารถเบิกจ่ายเงินกู้ ถือเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. ซึ่งรัฐบาลสามารถกู้เงินส่วนที่เหลืออีกประมาณ 3.4 แสนล้านบาท คิดว่าคงไม่ทัน อีกทั้งรัฐบาลยังมีแผนการที่จะกู้เงินอีกระลอกใหญ่ เพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2556 ด้วยการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ..... “วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท” สำหรับระยะเวลา 7 ปี ทั้งที่โครงการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ให้สาธารณชนเห็นแล้วว่า การกู้เงินนอกระบบงบประมาณ ขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย และขาดความโปร่งใสอย่างไร และรัฐบาลก็ไม่สามารถทำตามที่ให้ไว้กับสาธารณชนได้ แต่รัฐบาลยังดึงดันกู้เงินนอกระบบในวงเงินที่มากขึ้นกว่าอีก

นายกรณ์กล่าวว่า ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลกำลังมีเจตนาที่จะนำเงินมหาศาลไปใช้ในกิจการโดยมิชอบที่ไม่มีผู้ใดสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะขัดต่อหลักวินัยการเงินการคลังและงบประมาณตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากมีการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทจริง ซึ่งจะคล้ายกับการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยพรรคประชาธิปัตย์จะต้องมีการพิจารณาในข้อกฎหมาย เพราะถ้าหากปล่อยให้รัฐบาลดำเนินการออก พ.ร.บ.เงินกู้นอกระบบได้ ในอนาคตจะทำให้เป็นเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลออกกฎหมายกู้เงินให้กับตนเอง โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ และจะเป็นบรรทัดให้ฐานกับรัฐบาลชุดต่อๆ ไป ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลยพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นบรรทัดฐานและการยื่นครั้งนี้จะเป็นข้อมูลในการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในภายภาคหน้า และจะชี้ให้เห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในครั้งที่ผ่านมา เป็นการเชื่อต่อข้อมูลที่รัฐบาลนำมาชี้แจง

เมื่อถามว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นจดหมายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐบาลตรากู้เงินได้เป็นการวินิจฉัยที่ผิดพลาดไม่ทันเกมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายกรณ์กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้นไม่มีข้อมูลที่จะประเมินได้ ข้อมูลที่รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริง หากไม่มีการอนุมัติกู้เงินจะมีผลต่อความมั่นคงของประเทศนั้น เป็นข้อมูลที่เชื่อถือหรือไม่

“ในวันนั้นเข้าใจได้ว่าศาลคงให้เกียรติรัฐบาล เพราะเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะไม่เอาข้อมูลที่ไม่เป็นจริงมาชี้แจงต่อศาล แต่วันนี้ปรากฏแล้วว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นเช่นนั้น เราจึงนำข้อมูลมาให้ศาลพิจารณา เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาครั้งต่อไป” นายกรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เราก็ต้องจับตามองรัฐบาลตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. ที่จะครบกำหนดตามกฎหมายในการกู้ยืมเงิน ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่ได้กู้เงินก่อนวันที่ 30 มิ.ย. ก็จะถือว่าไม่มีสิทธิตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวนี้ แต่หากว่ารัฐบาลอ้างว่ายังไม่มีการกู้ แต่เป็นเพียงการทำสัญญาเงินกู้ล่วงหน้าไว้ก่อน เรื่องนี้คงจะเป็นประเด็นทางกฎหมายว่าการทำสัญญาเงินกู้เสมือนเป็นการกู้ยืมเงินมาแล้วหรือไม่







กำลังโหลดความคิดเห็น