xs
xsm
sm
md
lg

เลี่ยงระบบงบฯ แฉเกม“เลดี้กูกู้” ถลุง2.2 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (28 ม.ค. 56) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ปรับนโยบายการบริหารงานในรูปแบบมูลนิธิ เพื่อสร้างองค์กรให้น่าเชื่อถือ ผนึกกำลังและประสานงานทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐและสื่อมวลชน
ร่วมดำเนินงานด้วยความโปร่งใส เป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อขับเคลื่อนพลังสังคมต่อต้านคอร์รัปชันของชาติที่ทรงประสิทธิภาพ พร้อมขยายเครือข่ายสู่ภูมิภาคและต่างประเทศ ชี้นำนโยบายรัฐ ประกาศแผนปฏิบัติการปี 2556 ภายใต้ 4 พันธกิจ เกาะติดโครงการคอร์รัปชัน ติดตามเงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เช่น โครงการรับจำนำข้าวและพืชผลทางการเกษตร โครงการเงินกู้ 2.2 เเสนล้านบาท โครงการเงินกู้สามแสนห้าหมื่นล้านบาทเพื่อป้องกันน้ำท่วม นำร่องโครงการ “ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการจากภาคเอกชน” เพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แผนปฎิบัติการในปี 2556 นี้ ได้ยึดหลักการปลูกฝัง ป้องกัน และเปิดโปง ด้วย 4 พันธกิจ ได้แก่ 1.สร้างความน่าเชื่อถือขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เป็นศูนย์กลางให้ความรู้ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ รวมถึงการกระตุ้นสร้างจิตสำนึก ให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีศักยภาพสูงสุด
2. สร้างเครือข่ายการทำงานทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล เช่นการร่วมมือกับ ปปช. ออกกฎระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐให้รัดกุมโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ และการร่วมทำงานกับองค์กรอิสระต่างๆ เช่น สสส. ในการจัดกิจกรรมต้านคอร์รัปชันให้กระจายสู่ชนบท การขยายเครือข่ายปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนและคนรุ่นใหม่ในการสนับสนุนโครงการโตไปไม่โกง
3.สนับสนุน ชี้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อให้การต่อต้านคอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและบังเกิดผล เช่น การผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายคอร์รัปชัน เช่น การยกเลิกอายุความของคดีคอร์รัปชัน และให้มีกฎหมายลงโทษบริษัทเอกชนที่ทำการคอร์รัปชัน เพื่อสร้างให้ประเทศไทยมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือและพร้อมสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ และพันธกิจสุดท้ายคือการสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดต้นแบบของสังคม ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล นอกจากนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จะร่วมมือกับภาคสื่อมวลชนในการเปลี่ยนทัศนคติ โดยการเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์เรื่องจริยธรรมและการปลูกฝังให้ประชาชนร่วมมือกันไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน และยังจะร่วมกันส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของสื่อในการต่อต้านคอร์รัปชันอีกด้วย
สำหรับโครงการนำร่องโครงการแรกในปีนี้คือ ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการจากภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้บรรลุเป้าหมายและประสบผล และร่วมสร้างมาตรการตรวจสอบถ่วงดุลย์ รวมไปถึงการร่วมพัฒนาเปลี่ยนแปลงบุคลากรและระบบงานของหน่วยงานของรัฐที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับ คอร์รัปชัน เพิ่มเติมจากที่หน่วยราชการจะต้องยื่นเรื่องด้วยตนเอง โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯจะทำการเผยแพร่โครงการสู่ภาคธุรกิจ อาทิ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมธนาคารฯ สำนักงาน กลต.
โครงการนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลประเด็นปัญหาหรือพฤติกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการทำงาน หรือพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นช่องทางหรือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน โดยกำหนดรวบรวมข้อมูลภายในวันที่ 15 มีนาคม 2556 และจะทำการจัดแยกหมวดหมู่ ลำดับความสำคัญของข้อเสนอแนะและเสนอต่อรัฐบาลในภาพรวมถึงต้นตอของปัญหาและแนวทางการแก้ไข และนำเสนอต่อ สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อขอให้รับไปดำเนินการต่อตามกระบวนการในขั้นตอนสุดท้าย
โครงการนี้นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันในระยะยาว และยังเป็นการช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถพัฒนาได้อย่างเสรี มีโอกาสเท่าเทียมกันและมีต้นทุนที่เหมาะสม ทำให้ต่างชาติเกิดความมั่นใจในการลงทุน ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

**ฟันธงกู้ 2.2 ล้านลบ.เลี่ยงระบบงบ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึง กรณีที่รัฐบาลเตรียมกู้เงินอีก 2.2 ล้านล้านบาทว่า ผมฟันธงเลยโครงการเหล่านี้ทำได้โดยไม่ต้องไปออกกฎหมายกู้เงินแบบนี้ แต่ที่จะออกกฎหมายกู้เงินแบบนี้เพราะ 1. ไม่อยากเอาเข้ามาอยู่ในระบบงบประมาณ เพราะอยากจะเอาเงินงบประมาณไปใช้แบบที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ครับ รถคันแรก จำนำข้าว ประชานิยมเรื่องอื่น 2. ทำวิธีนี้ผมยืนยันเลย และพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าเลยถ้าทำสำเร็จ จะมีการยกเว้นระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างตามปกติ ให้เป็นวิธีพิเศษ เพราะฉะนั้นผมบอกกับประชาชนนะครับ ฝ่ายค้านสนับสนุนโครงการ แต่ไม่สนับสนุนการเลี่ยงระบบงบประมาณ และไม่สนับสนุนการใช้วิธีพิเศษครับ”
“แนวทางหนึ่งก็คือสุดท้าย เอกชนต้องเข้ามามีบทบาทในโครงการเหล่านี้เกือบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นรัฐบาลเอง ผมก็ตอนแรกก็ดีใจนะครับ มาสานต่อกฎหมายที่รัฐบาลที่แล้วได้เริ่มต้นไว้ก็คือการที่จะทำให้การทำงานกับภาคเอกชนนั้น มีกติกาที่มันชัดเจนมากขึ้น เวลาเขาเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะฉะนั้นหลายโครงการที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ หรือการพาณิชย์ หรือสามารถแยกบางส่วนของโครงการให้เป็นเช่นนั้นได้ ก็ใช้วิธีการให้เอกชนมาร่วมลงทุน อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง
นอกจากนั้นแล้วการดำเนินการโครงการต่างๆ ก็อย่างที่บอกว่า สามารถที่จะหลายเรื่องเข้ามาสู่ระบบงบประมาณปกติได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องอยู่ดีๆ บอกว่า พอจะทำโครงการใหญ่อย่างนี้ต้องขอกู้เงิน แล้วก็แถมมีเป็นครั้งแรกในการที่จะรวมโครงการใหญ่ๆๆ เข้ามาแล้วก็บอกขอกู้เงินเป็นก้อนยักษ์เลย แล้วเดี๋ยวก็มาขอเป็นวิธีพิเศษครับ”

**งง อ้างกู้แต่ยอดหนี้ไม่เกิน 50%
นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์อีกว่า ตนไม่เข้าใจทำไมนายกฯถึงบอกว่าหนี้จะไม่เกิน 50% เพราะหากบวกหนี้ที่กู้เพิ่ม 2.2 ล้านล้านบาทเข้าไปก็จะเกิน 50% ทันที นอกจากจะกู้ทีละนิด ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนการลงทุนในหลายโครงการ แต่เรายืนยันว่าหลายโครงการไม่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ สามารถให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ หรือให้การบริหารจัดการงบประมาณโดยใช้ระบบงบประมาณมาดูแลเรื่องการเงินได้
"การที่รัฐบาลคิดกู้เงินก้อนใหญ่ก็เพื่อหลบเลี่ยงกระบวนการงบประมาณ ซึ่งจะเป็นอันตรายในเรื่องวินัยทางการเงิน และหากดูเรื่องเงินกู้ในโครงการป้องกันน้ำท่วมที่ผ่านมาก็เห็นได้ว่าคงมีเจตนาหลีกเลี่ยงการจัดซื้อจัดจ้าง และจำนำไปสู่การทุจริต และการรั่วไหลของงบประมาณ ทั้งนี้หากรัฐบาลเดินหน้าโดยทำเป็น พ.ร.ก.นั้น ผมคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้เพราะไม่ได้เข้าเงื่อนไข และศาลรัฐธรรมนูญคงจะเห็นว่าการขอกู้ 3.5 แสนล้านที่บอกว่าเร่งด่วนนั้น แต่เวลาเอาจริงกับยังไม่มีความชัดเจน แต่หากเป็น พ.ร.บ.ก็น่าคิด เพราะระบบของงบประมาณและข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมศึกษาเรื่องนี้แล้วเพราะถือว่าหมิ่นเหม่ที่จะเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ"

**ยื่นศาลรธน. วินิจฉัยศาลรธน.พ.ร.ก.กู้เงิน
อีกด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐบาลออกพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศพ.ศ.2555 โดยระบุว่า หลังจากที่ได้ติดตามการใช้งบประมาณ รัฐบาลกลับไม่มีแผนใช้จ่ายเงินกู้และและไม่ปรากฏโครงการจัดการน้ำของรัฐบาล ดำเนินการเป็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เนื่องจากการมีการยอดเบิกจ่าย 4,639.34 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบยอดเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ก็เท่ากับว่ามีการเบิกจ่ายไปประมาณร้อยละ 1 ของยอดเงินกู้ทั้งหมดเท่านั้น ทั้งที่ระยะเวลาล่วงเลยมาแล้ว 1 ปี ไม่สอดคล้องกับข้ออ้างของรัฐบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และยังพบว่าเงินที่เบิกจ่ายไปแล้วมีการเบิกจ่ายในส่วนอื่น ไม่ใช่กระบวนจัดการบริหารน้ำ
“จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมิได้ดำเนินการตามคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้น แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล และจากยอดเงินกู้และยอดค่าใช้จ่ายตลอดปี 55 ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า รัฐบาลสามารถบรรจุรายการใช้จ่ายเงินดังกล่าว ไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ 55 หรือใช้วิธีการกู้เงินตาม พ.ร.บ.การบีริหารหนี้สาธารณะ 2548 หรือออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องมีการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้แต่อย่างใด แต่รัฐบาลกลับหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการตามวิถีทางดังกล่าว”นายกรณ์กล่าว
ขณะนี้เหลือเวลาอีก 5 เดือน ยังไม่มีแผนหรือโครงการที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นการที่รัฐบาลจะกู้เงินในส่วนที่เหลือทั้งหมดมาก่อน ครบระยะเวลากู้เงิน และใช้วิธีการตามโครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้อนุมัติจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี นำมาสอดแทรกเข้าโครงการของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อสามารถเบิกจ่ายเงินกู้ ถือเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. ซึ่งรัฐบาลสามารถกู้เงินส่วนที่เหลืออีกประมาณ 3.4 แสนล้านบาท คิดว่าคงไม่ทัน อีกทั้งรัฐบาลยังมีแผนการที่จะกู้เงินอีกระลอกใหญ่ เพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2556 ด้วยการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ..... “วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท” สำหรับระยะเวลา 7 ปี ทั้งที่โครงการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ให้สาธารณชนเห็นแล้วว่า การกู้เงินนอกระบบงบประมาณ ขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย และขาดความโปร่งใสอย่างไร และรัฐบาลก็ไม่สามารถทำตามที่ให้ไว้กับสาธารณชนได้ แต่รัฐบาลยังดึงดันกู้เงินนอกระบบในวงเงินที่มากขึ้นกว่าอีก
ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลกำลังมีเจตนาที่จะนำเงินมหาศาลไปใช้ในกิจการโดยมิชอบที่ไม่มีผู้ใดสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะขัดต่อหลักวินัยการเงินการคลังและงบประมาณตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากมีการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทจริง ซึ่งจะคล้ายกับการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยพรรคประชาธิปัตย์จะต้องมีการพิจารณาในข้อกฎหมาย เพราถ้าหากปล่อยให้รัฐบาลดำเนินการออก พ.ร.บ.เงินกู้นอกระบบได้ ในอนาคตจะทำให้เป็นเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลออกกฎหมายกู้เงินให้กับตนเอง โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ และจะเป็นบรรทัดให้ฐานกับรัฐบาลชุดต่อๆ ไป ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลยพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นบรรทัดฐานและการยื่นครั้งนี้จะเป็นข้อมูลในการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในภายภาคหน้า และจะชี้ให้เห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในครั้งที่ผ่านมา เป็นการเชื่อต่อข้อมูลที่รัฐบาลนำมาชี้แจง
เมื่อถามว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นจดหมายฯดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐบาลตรากู้เงินได้ เป็นการวินิจฉัยที่ผิดพลาดไม่ทันเกมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น ไม่มีข้อมูลที่จะประเมินได้ ข้อมูลที่รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริง หากไม่มีการอนุมัติกู้เงินจะมีผลต่อความมั่นคงของประเทศนั้น เป็นข้อมูลที่เชื่อถือหรือไม่
“ในวันนั้นเข้าใจได้ว่าศาลคงให้เกียรติรัฐบาล เพราะเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะไม่เอาข้อมูลที่ไม่เป็นจริงมาชี้แจงต่อศาล แต่วันนี้ปรากฏแล้วว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นเช่นนั้น เราจึงนำข้อมูลมาให้ศาลพิจารณา เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาครั้งต่อไป”
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้เราก็ต้องจับตามองรัฐบาลตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. ที่จะครบกำหนดตามกฎหมายในการกู้ยืมเงิน ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่ได้กู้เงินก่อนวันที่ 30 มิ.ย. ก็จะถือว่าไม่มีสิทธิตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวนี้ แต่หากว่ารัฐบาลอ้างว่ายังไม่มีการกู้ แต่เป็นเพียงการทำสัญญาเงินกู้ล่วงหน้าไว้ก่อน เรื่องนี้คงจะเป็นประเด็นทางกฎหมายว่าการทำสัญญาเงินกู้เสมือนเป็นการกู้ยืมเงินมาแล้วหรือไม่

**เปิดทางเอกชนร่วมลงทุนงบ2 ล้านล้านบาท
นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยถึงรูปแบบของการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะดำเนินการในระยะ 7-8 ปีว่า จะมีรูปแบบการลงทุน 2 ส่วน ส่วนแรก หรือ ราว 70% ของวงเงินลงทุน จะเป็นการลงทุนโดยตรงจากภาครัฐ ส่วนที่เหลือ 30% จะเป็นการลงทุนที่เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ หรือ ที่เรียกว่า Private Public Partnership (PPP)
สำหรับรายละเอียดของโครงการลงทุนทั้งหมด ขณะนี้ กระทรวงการคลัง และ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดของโครงการที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ คาดว่า จะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้
ทั้งนี้ โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทส่วนใหญ่หรือราว 70-80% จะเป็นโครงการด้านระบบขนส่งในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ ,ระบบรถไฟความเร็วสูง และ ระบบถนน ซึ่งบางส่วน หรือ ประมาณ 30%จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ภายใต้กฎหมาย PPP ฉบับใหม่ ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการลงทุนแบบ PPP รวดเร็วและชัดเจนขึ้น
สำหรับความคืบหน้าของร่างกฎหมายPPP ขณะนี้ การพิจารณาในขั้นตอนของวุฒิสภาเสร็จแล้ว โดยได้ปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดเล็กน้อย แต่เป็นประโยชน์ต่อการทำให้การลงทุนแบบ PPP มีความชัดเจนขึ้น และในวันพุธที่ 23 มกราคมนี้ จะมีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว กลับคืนให้สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ หากอนุมัติตามร่างที่วุฒิสภาเสนอ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็จะเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อลงปรมาภิไธย หลังจากนั้น ก็ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงประกาศใช้เป็นกฎหมายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น