xs
xsm
sm
md
lg

ม.ทักษิณผนึกกำลังองค์กรภาคีร่วมรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ - ม.ทักษิณ เชิญร่วมรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) 9 ธ.ค. นี้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถนนคนเดิน บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ สงขลา

ม.ทักษิณ ผนึกกำลังองค์กรภาคีจากภาครัฐ เอกชน และองค์กรประชาสังคม ร่วมรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) 9 ธันวาคม 2555 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถนนคนเดิน บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ สงขลา ชี้คอร์รัปชันรุนแรงลุกลามเข้าสู่โครงสร้างทางสังคม และโครงสร้างความรู้สึกคนไทย กระทั่งมองคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน

รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ดวงจันทร์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาความรุนแรง และการลุกลามขยายตัวของปัญหาการทุจริต และคอร์รัปชันในสังคมไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดสงขลา คณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานจังหวัดสงขลา สำนักงานเทศบาลนครสงขลา ศาลปกครองสงขลา หอการค้าจังหวัด ภาคีเครือข่ายประชาชนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันจังหวัดสงขลา เครือข่ายสงขลาสามัคคี และเครือข่ายชุมชนศรัทธาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ร่วมสร้างธรรมาภิบาล-ต่อต้านคอร์รัปชัน” เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day 2012)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชน และประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาจากการทุจริตที่มีผลกระทบต่อสังคม และรณรงค์สร้างการตื่นตัวของสังคมในการร่วมกันต่อต้านการทุจริต เพื่อสังคมไทยใสสะอาด ปราศจากคอร์รัปชันในสังคมไทย ในวันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2555 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถนนคนเดิน บริเวณพิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ สงขลา)

“เราตระหนักดีว่า ปัญหาคอร์รัปชันนั้นไม่สามารถขจัดได้โดยลำพังของภาครัฐบาล จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาขึ้นในระดับภูมิภาค ในระดับชาติ และในระดับนานาชาติ เพื่อร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านการต่อต้านคอร์รัปชันสากล”
(พันตำรวจตรี ชัชนพ ผดุงกาญจน์)
พ.ต.ต.ชัชนพ ผดุงกาญจน์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นปัญหาสังคม และเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน เนื่องจากระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยม ประชาชนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสบริโภคนิยมเกินขอบเขต โครงสร้างทางสังคม และวัฒนธรรมของไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ยอมรับในระบบอำนาจนิยม ประชาชนยึดมั่นในค่านิยมที่ยกย่องสรรเสริญคนที่มีฐานะ และมีอำนาจมากกว่าคนที่ทำความดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ประกอบกับโครงสร้างทางการเมืองของไทย ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของนักธุรกิจการเมือง และนักเลือกตั้งมาโดยตลอด ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา พบว่า การทุจริตคอร์รัปชันมักเกิดขึ้นเฉพาะในวงราชการ เช่น การทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และการทุจริตในการให้สัมปทาน หรือกิจการของรัฐ แต่ปัจจุบัน ได้มีการทุจริตรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้น

“สิ่งที่น่ากังวลในอนาคตอันใกล้นี้คือ ในปี ค.ศ.2015 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คาดการณ์ว่าสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันอาจมีการพัฒนารูปแบบและวิธีการกระทำผิดที่มีความสลับซับซ้อน และรุนแรงมากยิ่งขึ้น แม้ปัจจุบันกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่กลไกดังกล่าว อาจยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้น กลไกและมาตรการใหม่ในการป้องกันและปราบการทุจริตจำเป็นต้องพัฒนา และปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การประสานความร่วมมือกันระหว่างนานาประเทศในการเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมิใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาของนานาประเทศ”
(นายอานนท์ มนัสวานิช)
นายอานนท์ มนัสวานิช ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือดำเนินการ และผลักดันอย่างจริงจัง ทั้งเรียกร้องสังคมร่วมสร้างจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

“อยากเห็นการปลุกจิตสำนึกมาจากการปฏิบัติจริงๆ โดยร่วมกันสร้างธรรมาภิบาล-ต่อต้านคอร์รัปชัน เงินภาษีอากรของพี่น้องทุกบาททุกสตางค์กว่าจะจัดเก็บ กว่าจะมีรายได้เสียภาษีเต็มไปด้วยความยากลำบากจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่เงินภาษีอากรของพี่น้องที่หามาได้อย่างยากลำบากนั้น รั่วไหลได้ง่ายอย่างรวดเร็วของผู้ที่มีจิตใจเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม หรือของประเทศชาติ”
(ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์)
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า ในภาพรวมระดับสังคมปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้ขยายลุกลาม แทรกลึกเข้าไปในโครงสร้าง กลไก สถาบันต่างๆ ของรัฐ และสังคมเกือบทุกมิติ/ระดับของการพัฒนา ทำให้ให้เกิดปัญหา และเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติถึงท้องถิ่น “คอร์รัปชันเป็นอุปสรรคขัดขวางสำคัญที่ฉุดรั้งการพัฒนาของไทยให้ตกอยู่ในภาวะด้อยพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบราชการ ท้องถิ่น ไม่เว้นแม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย เราจะพบเห็นรูปแบบใหม่ของการทุจริตคอร์รัปชันที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนมากขึ้นในเกือบทุกวงการ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่น่าวิตก และเป็นเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายจะต้องขบคิดกันอย่างจริงจังก็คือ กระแสความคิดคอร์รัปชันที่ได้แทรกลึกเข้าไปในโครงสร้างความรู้สึกของผู้คนในสังคม กระทั่งเห็นคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติสามัญที่ใครๆ ก็ทำกัน

“สิ่งสะท้อนสำคัญคือ ทัศนะที่ยอมรับได้กับการคอร์รัปชัน นับวันความคิดเช่นนี้กำลังจะกลายไปสู่การกระทำที่สามัญในชีวิตประจำวันที่เราไม่รู้สึกผิด เขินอาย เพราะเห็นว่าใครๆ ก็ทำกัน ด้านหนึ่งของความคิดนี้คือ การบ่มเพาะหน่อเนื้อ เชื้อร้ายในโครงสร้างความรู้สึกของปัจเจกบุคคลที่นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า กิจกรรมร่วมสร้างธรรมาภิบาล-ต่อต้านคอร์รัปชัน จึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการสร้างกระแสการตื่นตัวในประเด็นดังกล่าว กิจกรรมในวันงานจึงมีทั้งการเสวนาทางวิชาการ ปาฐกถาพิเศษ นิทรรศการ ขบวนเดินรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันจากนิสิต นักศึกษา ประชาชน หน่วยงานราชการ กว่า 1,000 คน ทอล์กโชว์ตะลุงการเมือง การอ่านบทกวี และกิจกรรมบนเวทีต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ยังได้ผลิตสื่อรณรงค์ ไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์ โปสเตอร์ เสื้อ ร่ม ไปยังองค์กรต่างๆ ในภาคใต้กว่า 500 แห่ง

“เราคาดหวัง และตั้งใจว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นจุดเล็กๆ ที่จะนำไปสู่การตื่นตัว และการขบคิดเพื่อแสวงหาแนวทางที่จะนำไปสู่การขจัดปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทย รวมทั้งการแสวงหาพลังจากทางสังคมที่จะนำไปสู่การปฏิบัติการอย่างจริงจัง มากกว่าตีคำวาทกรรมคอร์รัปชันอย่างหรูหรา ทว่า ว่างเปล่า”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น