“อภิสิทธิ์” ร่วมงานปลูกฝังค่านิยมต้านคอร์รัปชันกับเยาวชน ระบุ ซุกหุ้นต้นตอขัดแย้ง ทุจริตกระทบ ปชช.ยกโกงงบน้ำท่วม จนท่วมหลายพื้นที่ เผยโกงตั้งแต่ชักเปอร์เซ็นต์ ฮั้ว ทุจริตเชิงนโยบาย ถึงขั้นโกงแบบถูก กม.ตรวจสอบไม่ได้ ชี้ งบรั่วไม่ต่ำกว่า 8 แสน ล.ต่อปี ห่วงสังคมรับทุจริต ปลุก เยาวชน ภาคเอกชน ร่วมประณาม หวังแก้ปัญหาเหมือนฮ่องกง ห่วงบรรทัดฐานการเมือง หลัง “ยงยุทธ” เล็งใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ฟอกผิด อัดสื่อ มติชน-ข่าวสด สร้างทัศนคติอันตราย ปั้นข้อมูลเท็จอ้างชายชุดดำเป็นแค่วาทกรรม
วันนี้ (23 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บรรยายพิเศษเรื่อง “ปัญหา อุปสรรคความท้าทาย และทางออกคอร์รัปชันในสังคมไทย” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายเยาวชนต่อต้านคอร์รัปชันภาคกลาง และภาคตะวันออก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ถ้าจัดการปัญหานี้จะบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองด้วย ถ้าเราเชื่อผลการสำรวจล่าสุดที่หอการค้าสอบถามไปยังผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการทุจริตในโครงการของรัฐ มีตัวเลข 35-40% คือ ความสูญเสียที่อาจเกิดจากการทุจริต คอร์รัปชัน ถ้าปีหนึ่งรัฐบาลใช้งบประมาณ 2 ล้านล้าน 40% ก็ 8 แสนล้าน เงินจำนวนนี้สามารถสร้างถนน โรงเรียน โรงพยาบาล ช่วยเหลือเกษตร ประชาชน เพราะฉะนั้น ความสูญเสียที่เป็นตัวเงินก็มหาศาล แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น คือ มีผลกระทบในเรื่องประสิทธิภาพของระบบต่างๆ ทำให้ไม่ได้มาตรฐาน แต่วันนี้มีคอร์รัปชันเห็นยาก เช่น การขุดลอกคูคลอง จะเห็นตอนน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น ถ้าสังคมไหนยอมรับเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน เท่ากับไม่ยอมรับกติกา ความเสมอภาค ยอมรับการเอารัดเอาเปรียบ สามารถแสวงหาผลประโยชน์บนความเสียเปรียบของคนอื่นในสังคม สุดท้ายจะทำให้สังคมมีความขัดแย้ง ลุกลามถึงระดับการเมืองด้วย เป็นการกัดกร่อนประเทศชาติ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานของ คอป.เกี่ยวกับความขัดแย้งข้อสรุปที่เป็นต้นเหตุ คือ การไม่ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม จากการซุกหุ้นก็เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน เราจะเข้าถึงคนที่ยอมรับการคอร์รัปชันได้อย่างไร ความรุนแรงจากความเสียหายในการทุจริตคอร์รัปชันจะต้องดูแนวทางแก้ปัญหา แม้ว่าการทุจริตจะมีอยู่ทุกสังคมตราบเท่าที่มนุษย์มีความโลภ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สังคมหลายสังคมสามารถจัดการปัญหานี้ได้ดี ได้รับการยอมรับว่ามีการทุจริตน้อย ถ้าค้นพบก็จัดการได้อย่างเด็ดขาด และสังคมจะลงโทษการทุจริตทางสังคม ประณามการทุจริต ไม่ใช่แค่ผลในทางกฎหมายเท่านั้น ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีการจัดอันดับความโปร่งใส และประเทศที่ทุจริตรุนแรง ตัวอย่างคือ ฮ่องกง สมัยหนึ่งมีการยอมรับการทุจริต แต่ก็สามารถผ่านปัญหานี้ไปได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องมองว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขจัดการอย่างต่อเนื่อง และจัดการได้ถ้าสังคมเอาจริงเอาจัง เพราะมีประสบการณ์ให้เห็น ทั้งนี้ การทุจริตไม่เคยหยุดอยู่กับที่ สมัยก่อนเป็นการขโมย ยักยอก เช่น หน่วยงานราชการ รัฐบาลมีโครงการ 100 บาท ชักไป 10-40 บาท ซึ่งปัจจุบันยังมี แต่ต่อมาโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยน การทุจริตมีในรูปแบบใหม่ จากรัฐบาลเป็นคนใช้งบประมาณก็เป็นการพึ่งพาเอกชน ประมูลงาน ให้สัมปทาน เกี่ยวข้องกับเอกชน เช่น คำว่า ฮั้ว สมยอมในการเสนอราคาเกิดขึ้น โดยมีภาคเอกชนเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่มีการแข่งขันจริง สุดท้ายราคาที่เสนอสูงกว่าความเป็นจริง ปัญหาจึงมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ต่อมาในยุคหลังมีการทุจริตเชิงนโยบาย เป็นการออกแบบนโยบายมีเป้าหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนรวม เพราะผู้ออกนโยบายมีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ทำให้คนยอมรับการทุจริต โดยทำให้เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากนโยบายนั้นด้วยทั้งที่ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับคนโกงและคนออกนโยบายเอาประโยชน์ประชาชนมาบังหน้าเพื่อผลักดันนโยบาย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีการทุจริตแบบถูกกฎหมาย หมายความว่า ไม่ผิดกฎหมายแต่เป็นการปล้นกลางแดด เช่น ไม่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างตามวิธีปกติ แต่ใช้วิธีพิเศษ จะเลือกใครยังไงก็ได้ ทั้งนี้ การทุจริตจึงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้การแก้ปัญหาหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ ตนจะชี้ให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมา จากประวัติศาสตร์จะเห็นว่า ทำไมการต่อสู้จึงยาก จนต้องเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ตลอดเวลา ถ้าพูดถึงระดับล่าง เพราะมีกฎระเบียบมาก ทำให้มีการนำกฎไปใช้หากิน เป็นบทเรียนว่าบางครั้งการออกกฎก็กลายเป็นปัญหาทำให้เกิดการทุจริต พร้อมกับยกตัวอย่งการประกาศราคากลางเป็นตัวอย่างที่ดี โดยในสมัยก่อนราคากลางจะไม่เปิดเผยเป็นความลับ ทำให้เกิดปัญหาว่าหน่วยงานที่ทำการประมูลมีเจ้าหน้าที่รู้ราคากลางแอบไปบอกผู้เข้าประมูลบางราย ป.ป.ช.จึงออกระเบียบให้เปิดเผยราคากลาง แต่ก็มีกระบวนการทำให้สูงเกินความจริง และมีการฮั้วกำหนดราคาให้ใกล้กับราคากลางที่ตั้งไว้สูงเกินความเป็นจริง ซึ่งเท่ากับว่าการทุจริตจะพลิกแพลงเปลี่ยนรูปแบบตลอดเวลา ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาด้วยการออกกฎก็จะมีคนค้นหาช่องโหว่ตลอดเวลา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกับการตั้งองค์กรที่จะแก้ปัญหาก็เช่นเดียวกัน ตนเป็นคนแรกๆ ในสภาที่เสนอแนวคิดเรื่อง ป.ป.ช.เสนอเมื่อปี 2538 ต่อมามีการบรรจุในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งก็ตั้งความหวังว่า ป.ป.ช.จะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ในประวัติศาสตร์ของ ป.ป.ช.ประมาณสิบกว่าปียังเคยมี ป.ป.ช.ทั้งชุดต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะทุจริตจากการขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง เหมือนกับ กกต.ก็มีชุดหนึ่งศาลตัดสินจำคุก เพราะร่วมโกงการเลือกตั้ง การมีองค์กรจึงไม่พอ เพราะถ้า ป.ป.ช.ทุจริตจะทำอย่างไร ก็มีการเสนอว่าตั้งองค์กรใหม่มาดูแลกันไปเรื่อยๆ ซึ่งเท่ากับปัญหาไม่จบ ดังนั้น หากหวังว่า มีกฎและคนแก้ปัญหาแล้วนั้นไม่เพียงพอ การต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องทำมากกว่านั้น การจะประสบชัยชนะกับการทุจริตคอร์รัปชัน สังคมหรือประชาชนจต้องตัดสินใจ การที่ผลสำรวจ 60-70% ยอมรับการทุจริตได้ เป็นตัวฟ้องว่าทำไมการป้องกันการทุจริตไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะสังคมส่วนใหญ่ยอมรับไม่ให้ความสำคัญ เพราะมองว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าสังคมส่วนใหญ่คิดอย่างนี้จะมีกฎหมายกี่ฉบับ มี ป.ป.ช.กี่ชุดก็แก้ทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้ แต่สังคมที่ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องมี ป.ป.ช.หรือกฎระเบียบยุ่งยาก แต่อยู่ได้บนพื้นฐานความสุจริต
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าจะเอาจริงกับการทุจริตภาคเอกชนต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของตนเองไม่ยอมเป็นส่นหนึี่งของการทุจริต สิ่งที่อยากย้ำ คือ ตนหวังจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ถูกกับดักในระบบครอบว่า ต้องไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อนำสังคมไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และให้ข้อคิดว่าการต่อสู้เรื่องนี้เกี่ยวพันกับค่านิยมรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วย เช่น ถ้าเรายังมีค่านิยมที่ไม่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ก็เป็นการเปิดทางให้เกิดการทุจริตได้ ถ้าเป็นสังคมเพื่อน พวกมาก่อน ความเสียหายส่วนรวมไว้ทีหลัง ก็ทำให้การทุจริตแก้ยาก เพราะคนที่ได้รับความเสียหายจากการทุจริตเป็นพรรคพวก เป็นการทำลายระบบ ค่านิยมยอมรับนับถือคนมีเงิน มีอำนาจ ถ้ามีค่านิยมแบบนี้สุดท้ายก็เอื้อต่อการทุจริตเพราะคนมีความรู้สึกว่า เงินจากการคดโกงซื้ออะไรก็ได้ในสังคม วัตถุนิยมก็เป็นปัญหา หากแก้ไม่ได้โอกาสในการต่อสู้กับการทุจริตจึงเป็นเรื่องยาก พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย จะใช้ พ.ร.บ.ล้งมลทินปี 50 ให้มีผลย้อนหลัง เพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเอง ทำให้เกิดคำถามว่า บุคคลนี้การสมควรแสดงท่าทีความรับผิดชอบอย่างไร หรือจะบอกว่าการให้ออกย้อนหลังล้างมลทินได้จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ซึ่งต้องอยู่ที่สังคมด้วยว่าจะยอมรับบรรทัดฐานนี้หรือไม่
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวตอนหนึ่งระหว่างการตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนในการต่อต้านการทุจริต ว่า หนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด มีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อสังคมไทย ดูจากการพยายามปฏิเสธความจริงเรื่องชายชุดดำ โดยอ้างว่า เป็นเพียงแค่วาทกรรม และล่าสุด ยังมีการชี้นำว่าคนดี และความดีก็เป็นเพียงวาทกรรมเช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า สังคมอยู่ในจุดที่ล่อแหลมอันตราย กลายเป็นสังคมพวกทำผิดให้เป็นถูกถ้าเป็นพวกเดียวกัน แต่ถ้าฝ่ายตรงข้ามแม้ถูกก็ต้องทำให้ผิด สังคมจะขัดแย้งไม่รู้จบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการบรรยายของ นายอภิสิทธิ์ ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงราว 20 คน เดินทางมาหน้าโรงแรม SEZ บางแสน ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน มีตำรวจประมาณ 40 นายมาคอยดูแลความปลอดภัย และมีการกันคนเสื้อแดงให้อยู่ฝั่งตรงกันข้าม โดยมีการถือป้ายโจมตี และตะโกนด่าทอด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย แต่ไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำทางให้ นายอภิสิทธิ์ ออกประตูหลัง เพื่อไม่ต้องผ่านจุดที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วย