องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เผยแผนงานปี56 เล็งเกาะติดทุจริตจำนำข้าว -โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท พร้อมจัดทำเงื่อนไขภาคเอกชนประมูลงานภาครัฐ เตรียมเสนอ คณะกรรมต่อต้านคอร์รัปชันภาคราชการ ที่มีรมว.คลังเป็นประธาน พิจารณา 8 ก.พ.นี้ ด้านธวัชชัย เผย รายงาน ลักลอบเงินออกนอกประเทศ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบไทยอยู่อันดับ 13 มูลค่ารวม 2 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มการเติบโตมากขึ้น 5-6 เท่า จากปี 2543 พร้อมแจงช่อง3เรื่องเงียบ เพราะสังคมยังไม่ตอบรับ
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า โครงการปีนี้ที่ทางองค์กรมีการเร่งดำเนินการและติดตามใกล้ชิดคือ เรื่องการรับจำนำข้าว แม้โครงการนี้จะมีประโยชน์ในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรแต่มีช่องในการทุจริตได้ ซึ่งทางองค์กรจะมีการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน และ โครงการเงินกู้ 2.2 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการกู้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยโครงการดังกล่าวนั้นจะมีกาจัดซื้อจัดจ้างนั้น ก็จะมีช่องทางการทุจริตเกิดขึ้น
ทั้งนี้ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯได้มีการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดตั้งคณะกรรมต่อต้านคอร์รัปชันภาคราชการ ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และ ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการแนวร่วมปฏิบัติการต่อต้านคอร์รัปชันการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในการจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขของผู้ที่จะเข้าประมูลงานภาครัฐ นำร่อง 2 โครงการก่อน คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท และ โครงการป้องกันน้ำเท่วม ซึ่งในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ ก็จะเสนอให้ทางคณะ กรรมต่อต้านคอร์รัปชันภาคราชการ ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ เป็นประธานฯพิจารณา เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาต่อไป
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล คณะกรรมการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดเผยถึง รายงานการลักลอบนำเงินออกนอกประเทศ (lllicit Financial Flows) ของสถาบันGlobal Financial Integrity (GFI) ฉบับล่าสุด ซึ่งใช้ข้อมูลในช่วงปี 2001-2010 พบว่า ในช่วง ปี 2543-2553 ประเทศกำลังพัฒนาสูญเสียเงินจากการลักลอบนำเงินออกไปสู่ประเทศร่ำรวยเฉลี่ยปีละ 5.86 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะในปี 2010 มีการลักลอบนำเงินออกจำนวน 8.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 26.6 ล้านล้านบาท โดยช่วง 10 ปีดังกล่าวมีการลักลอบนำเงินออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 13.3% แม้ทางIMF จะได้ให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงระบบและวิธีการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งควรจะทำให้ข้อผิดพลาดทางสถิติดลงแต่การลักลอบยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงว่าการลักลอบนำเงินออกมีมากขึ้นจริง ทำให้เห็นถึงการขาดธรรมาภิบาลในระบบการบริหารในประเทศ โดยทางGFI ประเมินว่าการลักลอบส่งเงินออกนี้ ส่วนใหญ่เป็นเงินที่ได้จากการคอร์รัปชั่น รายได้จากอาชญากรรม และการหลีกเลี่ยงภาษี
สำหรับ 10 ประเทศแรงที่มีการลักลอบนำเงินออกนอกประเทศสูงสุด คือ 1 ประเทศจีน มุลค่า 2.74 แสนล้านสหรัฐ อันดับ 2 เม็กซิโก มูลค่า 4.75 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 3 มาเลเซีย อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 4. ซาอุดิอาระเบีย อยู่ที่ 2.09 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 5. รัสเซีย อยู่ที่ 1.51 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 6. ฟิลลิปปินส์ อยู่ที่ 1.37 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 7. ไนจีเรีย อยู่ที่ 1.29 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 8. อินเดีย 12.3หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 9. อินโดเนียเซีย อยู่ที่ 1.08 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 10 อาหรับอามิเรท อยู่ที่ 1.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับ ที่ 13 อยู่ที่ 6.42 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 2 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเหตุว่าการลักลอบส่งเงินออกจากประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวมเร็ว ในช่วง 10 ปี ซึ่งในปี 2544 มีเงินลักลอบส่งออกจำนวน 6.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 3.71 แสนล้านบาท ในปี 2553 ซึ่งเพิ่มขึ้น5-6 เท่า และจากตัวเลขดังกล่าวหากประเทสไทยไม่มีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น เพื่อลดการลักลอบเงินออกนอกประเทศก็จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
แจงช่อง3เรื่องเงียบ เพราะสังคมยังไม่ตอบรับ
นายประมนต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯได้มีการส่งหนังสือไปยังช่อง 3 กรณีไร่ส้มในช่วงทีผ่านมานั้น ทางช่อง3 ไม่ได้มีการส่งหนังสือกลับมายังองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีบางบริษัทที่มีการถอนโฆษณาบ้าง ซึ่งปัจจุบันเรื่องเงียบหายไปสะท้อนว่าประชาชนยังไม่มีการตอบรับเรื่องดังกล่าว ซึ่งเราก็จะต้องมีการจุดประกายให้ประชาชนตระหนักในการต่อต้านคอร์รัปชั่น สำหรับกรณีดังกล่าวเราไม่สามารถดำเนินการใดได้