xs
xsm
sm
md
lg

จับผิดหมกเม็ดหนี้กู้ 2.2ล้านล้าน จวก“โต้งโกหกสีขาว” อีกรอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(29 ม.ค.56) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีสมาชิกพรรคยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ยังไม่มีการดำเนินการ ว่า วันที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ดังกล่าวนั้น ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านว่าไม่น่าจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และควรจะออกกฎหมาย พ.ร.บ. ปกติ เพราะไม่น่าจะสามารถใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นเร่งด่วนที่อ้างเนื่องจากรัฐบาลก็มีงบกลางจำนวนมาก แต่ในขณะนั้นรัฐบาลก็ยืนยันว่า มีความพร้อมทุกอย่าง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ยกประโยชน์ให้กับรัฐบาล แต่ขณะนี้เวลาผ่านมาร่วมปีกลับไม่มีความคืบหน้าในแง่ของการกู้หรือใช้จ่ายเงินเลย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์อยากจะให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับทราบว่า รัฐบาลนั้นเคยบอกไว้อย่างไร แต่ขณะนี้ความจริงเป็นอย่างไร และที่จำเป็นต้องบอกศาล เพราะขณะนี้มีข่าวว่ารัฐบาลอาจจะกู้เงินอีก 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งก็เกรงว่าจะมาอ้างกับทางศาลอีกว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน
ที่รัฐสภา นายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงินโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท ว่า การที่รัฐบาลวางแนวทางการใช้เงินดังกล่าว ปีละ 3 แสนล้านบาท ผูกพันระยะเวลา 7 ปี ถือว่าอยู่ในวิสัยที่จะบรรจุเข้าอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามขั้นตอนปกติของวิธีการงบประมาณได้ แต่การที่รัฐบาลจะออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน ตนกลัวว่าจะซ้ำรอยกับการใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่มีความล่าช้า และมีข้อครหาว่ามีการทุจริต จึงอยากให้รัฐบาลแสดงความจริงใจต่อสภาฯ และประชาชน ในการนำงบกู้เงินนี้ มาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นห่วงขั้นตอนการบริหารเงินว่าจะเกิดความไม่โปร่งใส และเกิดการทุจริตได้
ส่วนกรณีที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาว่า หนี้สาธารณะจะไม่พุ่งเกิน 50% แม้แต่วินาทีเดียวนั้น ตนเกรงว่าจะเป็นการโกหกสีขาวอีกรอบหรือไม่ เพราะมีการหลีกเลี่ยงนำหนี้บางส่วนไปโปะไว้ในส่วนอื่น เช่น เงินขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ปีละ 2 แสนล้านบาท มีการนำไปรวมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และยังไม่รวมหนี้จากโครงการฟื้นฟูปีละ 1 ล้านล้านบาท จึงทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% แต่ความจริงตนพบว่า ขณะนี้หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 4.8 ล้านล้านบาท หากรวมเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท , เงินขาดดุลงบประมาณในปี 2556 จำนวน 3 แสนล้านบาท , ขาดดุลงบประมาณ 2557 จำนวน 2.2 แสนล้านบาท , ขาดทุนจำนำข้าวปีละ 2 แสนล้านบาท และรวมกับการกู้เงินใน พ.ร.ก.กู้เงินโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท ที่ผูกพัน 7 ปี ปีละ 3 แสนล้านบาท ส่วนนี้จะทำให้ขาดดุลงบประมาณต่อไปปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากประเมินจากจีดีพี ที่ 4% เงินเฟ้อ 3% จะทำให้ปีหน้าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 52% และในปี 2562 หนี้สาธารณะจะเพิ่มเป็น 10.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 57% ของจีดีพี
หมายความว่าประชาชนจะต้องมีการนำเงินภาษีไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ถึงปีละ 3 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงของให้รัฐบาลทบทวนโครงการที่ไม่สำคัญ และนำ พ.ร.ก.กู้เงินโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท เข้าพิจารณาในงบประมาณรายจ่ายประจำปีแทน" นายสรรเสริญ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันเวลา 08.00 น. นายมุเนโนริ ยามาดะ ประธานคณะกรรมการวิจัยทางเศรษฐกิจหอการค้าญี่ปุ่นกรุงเทพฯ (เจซีซี) (JETRO Bangkok) เข้าพบนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
มีรายงานข่าวแจ้งว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและ รมว.คลัง ได้ถอนเรื่อง ขออนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท ออกไปก่อน
นพ.ทศพร เสรีรักษ์ แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ช่วงแรกของการประชุมครม.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯได้พูดถึงการประชุมส่วนราชการที่กระทรวงการต่างประเทศวานนี้(28 ม.ค.) เพื่อทบทวนให้ครม.รับทราบ โดยมีการพูดถึงยุทธศาสตร์ประเทศ ได้สั่งว่า ทุกกระทรวงต้องส่งแผนจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ที่ต้องตอบยุทธศาสตร์ประเทศและให้รัฐมนตรีว่าการทุกกระทรวงตรวจสอบเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจัดส่งมาเพื่อพิจารณาในวันที่ 22 ก.พ.เป็นวันสุดท้าย
ทั้งนี้มีการตั้งคณะทำงาน 8 คณะเพื่อบูรณาการในการทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย 1.คณะการค้าชายแดน ความมั่นคงและเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)กรมศุลกากร รับผิดชอบ 2.คณะทำงานบูรณาการด้านการท่องเที่ยวและบริการ วัฒนธรรม สินค้าโอท็อป สปา สุขภาพ โดยมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 3.คณะทำงานด้านการแพทย์ชั้นสูง หรือเมดิคั่ล ฮับ มีกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการช่วยกันทำ 4.คณะทำงานด้านพลังงาน กรีนอีโคโนมี่ เรื่องสิ่งแวดล้อม มีกระทรวงพลังงานรับผิดชอบ
5. คณะทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษา ทั้งด้านแรงงานและอาชีวะศึกษา มีกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงานรับผิดชอบ 6.คณะทำงานด้านการแก้ไขความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ 7.คณะทำงานด้านการรวบรวมองค์ความรู้ในทางราชการ มีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และก.พ.ร.เป็นผู้รับผิดชอบ 8.คณะทำงานด้านแรงจูงใจนักลงทุน เพื่อให้นักลงทุนนอกประเทศมาลงทุนในประเทศ และให้นักลงทุนในประเทศไปลงทุนต่างประเทศ ให้เอสเอมอีไปสู่อาเซียน ทั้งนโยบายการช่วยด้านภาษี หรือสิทธิประโยชน์ต่่างๆ มีกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้นายกฯได้กำชับไม่ใช่ว่าเป็นการทำงานกระทรวงเดียวแบบโดดๆ แต่เป็นการบูรณาการกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันทำงาน
รายงานข่าวแจ้งว่า รูปแบบของการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะดำเนินการในระยะ 7-8 ปี จะมีรูปแบบการลงทุน 2 ส่วน ส่วนแรก หรือ ราว 70% ของวงเงินลงทุน จะเป็นการลงทุนโดยตรงจากภาครัฐ ส่วนที่เหลือ 30% จะเป็นการลงทุนที่เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ หรือ ที่เรียกว่า Private Public Partnership (PPP)
สำหรับรายละเอียดของโครงการลงทุนทั้งหมด ขณะนี้ กระทรวงการคลัง และ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดของโครงการ ที่ส่วนใหญ่หรือราว 70-80% จะเป็นโครงการด้านระบบขนส่งในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ ,ระบบรถไฟความเร็วสูง และ ระบบถนน หรือ ประมาณ 30%จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ภายใต้กฎหมาย PPP ฉบับใหม่ ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการลงทุนแบบ PPP รวดเร็วและชัดเจนขึ้น
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)เปิดเผยว่า วันอังคารที่ 5 ก.พ.นี้ จะเสนอรายชื่อกลุ่มบริษัทที่มีสิทธิในการเข้าประมูลโครงการบริหาร จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ในแต่ละโครงการ ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา จากนั้นจะให้เวลา 3 เดือนในการออกแบบและคิดราคาโครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือนเม.ย.56
ทั้งนี้ รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างขึ้นมาใหม่ โดยมีนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและจะมีการแจก TOR ให้เอกชนที่ผ่านทั้ง 8 โมดูล โมดูลละ 3 บริษัท รวมเป็น 24 บริษัท และเพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างโปร่งใส คณะกรรมการฯ จะกำหนดให้ผู้ผ่านการคัดเลือกยื่นซองประมูลจัดซื้อจ้าง รวม 3 ซอง เทคนิค ระยะเวลา และราคา
"กบอ.จะสรุปรายชื่อกลุ่มบริษัทที่มีสิทธิ ในการเข้าประมูล โครงการบริหารจัดการน้ำ ให้เหลือ 3 กลุ่มบริษัทต่อ 1 โครงการ เพื่อเสนอให้ครม. พิจารณา หลังจากนั้นก็จะประกาศรายชื่อ จากนั้นจะให้กลุ่มบริษัทที่มีรายชื่อตามประกาศดังกล่าว ยื่นข้อเสนอทางด้าน เทคนิค เสนอราคาและระยะเวลาดำเนินการ ในแต่ละโครงการที่กลุ่มบริษัทมีสิทธิ เข้าร่วมประมูล คาดว่าโครงการบริหารจัดการน้ำน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเม.ย.นี้ "นายปลอดประสพกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น