xs
xsm
sm
md
lg

อัมมาร์จวก “จำนำข้าว” เป็นการคอร์รัปชันโปร่งใส-ยั่งยืน แถมมีใบเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อัมมาร์” จวกเละนโยบายจำนำข้าวนายกฯ ปูเป็นการคอร์รัปชันโปร่งใส และยั่งยืน มีใบเสร็จ จี้รัฐยกเลิกนโยบายดังกล่าว ชี้ทำรัฐสูญปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท หลังผลาญเงินไปแล้ว 2.7 แสนล้านบาท จับตาเล่ห์ระบายข้าวในสต๊อก 10 ล้านตันจะลักไก่ส่งออกข้าวฤดูใหม่แทนข้าวในสต๊อก ด้านนักวิชาการจี้รัฐยกเลิกอุดหนุนราคา LPG ใช้คูปองช่วยครัวเรือนยากจนแทน


นายอัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า รัฐบาลควรยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าว หลังจากปัจจุบันมีข้าวอยู่ในสต๊อกแล้ว 10 ล้านตันและยังเดินหน้ารับจำนำข้าวฤดูใหม่อีก โดยเบื้องต้นอาจใช้วิธีรับประกันราคาข้าวไปก่อนที่จะยกเลิกในระยะยาว เนื่องจากนโยบายนี้ก่อให้เกิดการคอร์รัปชันที่โปร่งใสและยั่งยืน เป็นการคอร์รัปชันที่มีใบเสร็จ โดยประเทศสูญเสียปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท

“ในปีที่แล้วรัฐรับจำนำข้าวอย่างเดียวโดยไม่ปล่อยออกสู่ตลาด 10 ล้านตัน ทำให้ข้าวหายไปจากตลาดโลก ส่งผลราคาข้าวโลกดีดขึ้นส่งผลดีต่อข้าวเวียดนามและอินเดีย แต่พอรัฐบาลไทยบอกว่าจะระบายข้าวออกพร้อมกับรับจำนำข้าวใหม่ดัวย เชื่อว่าข้าวในสต๊อกก็คงมีอยู่ 10 ล้านตัน โดยข้าวในสต๊อกจะเป็นข้าวเดิม 2 ปี เนื่องจากข้าวฤดูใหม่จะถูกขายออกสู่ตลาดแทนเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดและขายได้ราคามากกว่า โดยจะมีบริษัทนายหน้าดำเนินการ และมีใบเสร็จการส่งออกข้าวถูกต้อง และสุดท้ายข้าวในสต๊อกจะเป็นข้าวเก่าค้าง 2 ปีที่จะเน่าเสียไป เท่ากับเงิน 2-3 แสนล้านบาทที่ใช้รับจำนำข้าวสูญเปล่า”

การใช้นโยบายจำนำข้าวเพื่อต้องการช่วยชาวนายากจนนั้นถือเป็นการหลอกลวง เนื่องจากพบว่าเม็ดเงินอุดหนุนส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสีหรือพ่อค้าคนกลาง รวมถึงชาวนาที่ร่ำรวย ส่วนชาวนาที่ยากจนจะมีผลผลิตข้าวเหลือพอขายน้อย และขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ต่ำกว่าการรับจำนำ 1.5 หมื่นบาท/ตันด้วย โดยมีการวิจัยพบว่าเงินที่รัฐอุดหนุนไป 100 บาทจะตกเป็นของโรงสีหรือพ่อค้าคนกลาง 63 บาท ที่เหลือ 37 บาทตกอยู่กับชาวนา ซึ่งชาวนาที่ยากจนจะได้รับน้อยมาก เนื่องจากผลผลิตข้าวที่เกินการบริโภคมีขายน้อยกว่า และราคาขายก็ต่ำกว่าราคารับจำนำที่ 1.5 หมื่นบาท/ตัน

นโยบายการอุดหนุนหรือตรึงราคาของภาครัฐไม่ได้มีแค่ข้าวกับน้ำมัน แต่ยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากมายซึ่งเป็นรายจ่ายที่มหาศาล จะก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในระยะยาวโดยเฉพาะการเพิ่มหนี้สาธารณะ เพราะเม็ดเงินที่ใช้ในการอุดหนุนมาจากการกู้ยืม ซึ่งประเทศไทยไม่รวยพอที่จะใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพอันจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้เหมือนกรีซได้

จี้รัฐยกเลิกอุดหนุน LPG

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา “นโยบายอุดหนุนและตรึงราคา : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย” วันนี้ (7 ส.ค.) ว่า ได้เสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสมต่อกระทรวงพลังงานไปแล้ว โดยเสนอให้ยกเลิกการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ทุกภาคส่วน โดยปล่อยลอยตัวราคาขายปลีก เสนอให้คูปองสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยใช้ข้อมูลจากการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 150 หน่วย/เดือน คิดเป็น 10 ล้านครัวเรือน เท่ากับรัฐอุดหนุน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ต่ำกว่าปัจจุบันที่อุดหนุนอยู่ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรมค่อยพิจารณาว่าจะอุดหนุนโดยคูปองหรือไม่

ส่วนน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ พบว่าราคาขายปลีกปัจจุบันสูงเกินไป จึงเสนอให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับเบนซินลงมาเหลือ 4 บาท/ลิตร จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ 7 บาท/ลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ 3 บาท/ลิตร ขณะเดียวกัน น้ำมันดีเซลให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาดีเซลอยู่ที่ 32 บาท/ลิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น