xs
xsm
sm
md
lg

รัฐยังลังเลลอยตัว LPG ครัวเรือน-NGV 1 ม.ค. 56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนพ.วางเป้าหมายพลังงานไทยสู่ AEC ต้องทยอยลอยตัวราคาพลังงานที่ไทยอุดหนุนอยู่เพื่อป้องกันใช้ภาษีคนไทยอุดหนุนเพื่อนบ้าน จ่อลอยตัว LPG ครัวเรือน และ NGV ยังลังเลเริ่ม 1 ม.ค. 56 หรือไม่ ขณะที่ราคา LPG อุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงเดือน ก.ค.นี้

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยในงานเสวนา “พลังงานไทยกับการก้าวสู่ AEC” ซึ่งจัดโดย สนพ. เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ว่า ปี 2558 ไทยต้องปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนตลาดโลก เพราะหากยังอุดหนุนราคาอยู่เท่ากับจะอุดหนุนประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งขณะนี้ไทยยังอุดหนุนราคา LPG ภาคครัวเรือนและ NGV อย่างไรก็ตาม ตามแผนจะอุดหนุนราคา LPG ครัวเรือนถึงสิ้นปีนี้ ดังนั้น 1 ม.ค. 56 จะลอยตัว LPG ครัวเรือนและ NGV หรือไม่คงจะต้องติดตามราคาตลาดโลกในช่วงสิ้นปีนี้ก่อน

นอกจากนี้ คงจะต้องปรับแผนงานบางส่วนที่จะเข้าไปร่วมกับ AEC ด้านพลังงาน เช่นกรณีความร่วมมือการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงท่อก๊าซอาเซียน (อาเซียนไปป์ไลน์) และโครงข่ายไฟฟ้า(อาเซียนกริด) โดยเฉพาะก๊าซฯ ที่ยอมรับว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) คงจะต้องเน้นการเจรจากลุ่มสมาชิกหากมีก๊าซฯ เหลือขอให้จำหน่ายแก่สมาชิกประเทศอาเซียนก่อน เป็นต้น

“ราคา LPG ตลาดโลกเดือน มิ.ย.ลดลงมาอยู่เฉลี่ยประมาณ 600 เหรียญสหรัฐต่อตันจากเดือนก่อน 714 เหรียญต่อตัน จึงทำให้ราคา LPG ภาคอุตสาหกรรมจะลดลงได้อีกในเดือน ก.ค.นี้ ส่วนราคาน้ำมันขณะนี้ตลาดโลกมีความผันผวนจึงต้องติดตามอีก 1-2 วัน หากลดลงก็อาจจะมีประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)” นายสุเทพกล่าว

เลิกฝันดันเชื่อมโยงท่อก๊าซอาเซียน

คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต กรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเกิด AEC ไทยหวังว่าจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงท่อก๊าซอาเซียน และโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน ซึ่งถือเป็นความคิดที่ล้าสมัยเนื่องจากแผนงานดังกล่าวคิดไว้ตั้งแต่ 40 กว่าปีแล้วถ้าเกิดคงจะเกิดไปนาน เนื่องจากขณะนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมากโดยเฉพาะก๊าซที่สามารถขนส่งในรูปของเหลวหรือ LNG ทำให้การวางระบบท่อไม่คุ้มและประเทศที่พอจะเหลือก๊าซฯ ขายคงมีแค่อินโดนีเซียเท่านั้น ขณะที่อาเซียนกริดการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้ายังพอมีโอกาสแต่คงไม่จำเป็นจะต้องไปผลักดันอะไร เนื่องจากหากระบบเศรษฐกิจมีความเข็มแข็ง ความต้องการมา ซัปพลายก็จะเกิดขึ้นได้เอง

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า AEC จะกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวทางด้านพลังงานอย่างมาก โดยเฉพาะไทยเองจะต้องมีแผนค่อยๆ ทยอยเลิกอุ้มราคาพลังงาน

นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ไทยยังขาดแผนแม่บทในการเตรียมพร้อมการเข้าสู่ AEC ซึ่งเป็นเพราะไทยถนัดที่จะคอยแก้ไขปัญหามากกว่าจะวางแผนล่วงหน้า นี่คือสิ่งที่อันตรายเพราะ AEC มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
กำลังโหลดความคิดเห็น