xs
xsm
sm
md
lg

จำนำข้าว:คอรัปชั่นโปร่งใส-ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวันอัมมาร์ - "อัมมาร์"จวกเละนโยบายจำนำข้าวนายกฯปู เป็นการคอรัปชั่นโปร่งใส และยั่งยืน มีใบเสร็จ จี้รัฐยกเลิกนโยบายดังกล่าว ชี้ทำรัฐสูญปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท หลังผลาญเงินไปแล้ว 2.7 แสนล้านบาท จับตาเล่ห์ระบายข้าวในสต็อก 10 ล้านตัน จะลักไก่ส่งออกข้าวฤดูใหม่แทนข้าวในสต็อก ด้านนักวิชาการจี้รัฐยกเลิกอุดหนุนราคาLPG ใช้คูปองช่วยครัวเรือนยากจนแทน ก.พลังงานเปิดตัวบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 วันที่ 15 ส.ค.โดยเอาใจวินมอเตอร์ไซด์ด้วยการให้ปตท.ลดราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ลิตรละ 3บาทต่อลิตรวัน

นายอัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า รัฐบาลควรยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าว หลังจากปัจจุบันมีข้าวอยู่ในสต็อกแล้ว 10 ล้านตันและยังเดินหน้ารับจำนำข้าวฤดูใหม่อีก โดยเบื้องต้นอาจใช้วิธีรับประกันราคาข้าวไปก่อนที่จะยกเลิกในระยะยาว เนื่องจากนโยบายนี้ก่อให้เกิดการคอรัปชั่นที่โปร่งใสและยั่งยืน เป็นการคอรัปชั่นที่มีใบเสร็จ โดยประเทศสูญเสียปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท

" ในปีที่แล้วรัฐรับจำนำข้าวอย่างเดียวโดยไม่ปล่อยออกสู่ตลาด 10 ล้านตัน ทำให้ข้าวหายไปจากตลาดโลกส่งผลราคาข้าวโลกดีดขึ้นส่งผลดีต่อข้าวเวียดนามและอินเดีย แต่พอรัฐบาลไทยบอกว่าจะระบายข้าวออกพร้อมกับรับจำนำข้าวใหม่ดัวย เชื่อว่าข้าวในสต็อกก็คงมีอยู่ 10 ล้านตันโดยข้าวในสต็อกจะเป็นข้าวเดิม 2ปี เนื่องจากข้าวฤดูใหม่จะถูกขายออกสู่ตลาดแทนเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดและขายได้ราคามากกว่า โดยจะมีบริษัทนายหน้าดำเนินการ และมีใบเสร็จการส่งออกข้าวถูกต้อง และสุดท้ายข้าวในสต็อกจะเป็นข้าวเก่าค้าง2ปีที่จะเน่าเสียไป เท่ากับเงิน 2-3 แสนล้านบาทที่ใช้รับจำนำข้าวสูญเปล่า "

การใช้นโยบายจำนำข้าวเพื่อต้องการช่วยชาวนายากจนนั้นถือเป็นการหลอกลวง เนื่องจากพบว่าเม็ดเงินอุดหนุนส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสีหรือพ่อค้าคนกลาง รวมถึงชาวนาที่ร่ำรวย ส่วนชาวนาที่ยากจนจะมีผลผลิตข้าวเหลือพอขายน้อย และขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ต่ำกว่าการรับจำนำ 1.5 หมื่นบาท/ตันด้วย โดยมีการวิจัยพบว่าเงินที่รัฐอุดหนุนไป 100 บาทจะตกเป็นของโรงสีหรือพ่อค้าคนกลาง 63 บาท ที่เหลือ37 บาทตกอยู่กับชาวนา ซึ่งขาวนาที่ยากจนจะได้รับน้อยมาก เนื่องจากผลผลิตข้าวที่เกินการบริโภคมีขายน้อยกว่า และราคาขายก็ต่ำกว่าราคารับจำนำที่ 1.5 หมื่นบาท/ตัน

ซึ่งนโยบายการอุดหนุนหรือตรึงราคาของภาครัฐไม่ได้มีแค่ข้าวกับน้ำมัน แต่ยังมีโครงการอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเป็นรายจ่ายที่มหาศาล ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในระยะยาวโดยเฉพาะการเพิ่มของหนี้สาธารณะ เพราะเม็ดเงินที่ใช้ในการอุดหนุนมาจากการกู้ยืม ซึ่งประเทศไทยไม่รวยพอที่จะใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ อันจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้เหมือนกรีซได้

จี้รัฐยกเลิกอุดหนุนLPG
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา"นโยบายอุดหนุนและตรึงราคา: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย วานนี้ (7 ส.ค.)ว่า ได้เสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสมต่อกระทรวงพลังงานไปแล้ว โดยเสนอให้ยกเลิกการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม(LPG)ทุกภาคส่วน โดยปล่อยลอยตัวราคาขายปลีก โดยเสนอให้คูปองสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยใช้ข้อมูลจากการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 150 หน่วย/เดือนคิดเป็น 10 ล้านครัวเรือน เท่ากับรัฐอุดหนุน 1หมื่นล้านบาทต่อปี ต่ำกว่าปัจจุบันที่อุดหนุนอยู่ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนร้านอาหาร ภัตรคารและโรงแรมค่อยพิจารณาว่าจะอุดหนุนโดยคูปองหรือไม่

ส่วนน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์พบว่าราคาขายปลีกปัจจุบันสูงเกินไป จึงเสนอให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับเบนซินลงมาเหลือ 4 บาท/ลิตรจากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ 7 บาท/ลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ 3 บาท/ลิตร ขณะเดียวกันน้ำมันดีเซลให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาดีเซลอยู่ที่ 32 บาท/ลิตร

ด้านพล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานดูแลบัตรเครดิตพลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 15 สิงหาคมนี้กระทรวงพลังงานจะเปิดตัว บัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 ที่สโมสรทหารบกที่มีการขยายสิทธิผู้ถือบัตรที่เดิมให้แค่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ไปยังกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง รถตู้โดยสารสาธารณะและรถสามล้อ(ตุ๊ก ตุ๊ก )และขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ถือบัตรเครดิตโดยเฉพาะมอเตอร์ไซด์ที่จะให้ส่วนลดราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ลิตรละ 3บาทโดยจะนำร่องที่ปั๊มปตท.ก่อน

“เราจะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนโดยให้ปตท.นำร่องลดราคาแก๊สโซฮอล์ 91และ 95 ลิตรละ 3 บาทไปก่อนโดยยังไม่ได้กำหนดเวลาชัดเจนว่าจะลดนานแค่ไหน โดยจะพิจารณาถึงแนวโน้มราคาน้ำมัน และการใช้ว่ามีมากน้อยเพียงใด และรวมถึงการขยายไปยังปั๊มอื่นๆในอนาคต”ผู้ช่วยรมว.พลังงานกล่าว

กบง.อุ้มดีเซลคงราคาเดิม
นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมนโยบายพลังงาน(กบง.)เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ลง 0.50 บาทต่อลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ อี 20 และ อี 85 กองทุนฯต้องเข้าไปอุดหนุนเพิ่มอีกลิตรละ 0.50 บาท รวมถึงปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯส่วนของดีเซลลง 0.30 บาทต่อลิตรจากเดิมเก็บ 60 สตางค์ต่อลิตรเหลือ 30 สตางค์ต่อลิตรเพื่อคงราคาขายปลีกของดีเซลไว้ที่ 29.63 บาทต่อลิตร ซึ่งผลดังกล่าวทำให้กองทุนน้ำมันฯมีรายรับลดลงจาก 31 ล้านบาทต่อวันเป็น 9 ล้านบาทต่อวัน โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯล่าสุดติดลบ 1.404 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น