xs
xsm
sm
md
lg

ความวิตกกังวลว่าเฟดจะยุติมาตรการ QE

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        ตลาดหุ้นสหรัฐปิดร่วงลงมากที่สุดในรอบ 3 เดือน และดัชนีความผันผวนพุ่งขึ้นในวันพุธ หลังรายงานการประชุมครั้งล่าสุดจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)บ่งชี้ว่า เฟดอาจจะชะลอหรือยุติการซื้อพันธบัตรเร็วกว่าคาด
        ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วง 108.13 จุดหรือ 0.77%สู่ระดับ 13,927.54, ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 18.99 จุด หรือ 1.24% สู่ระดับ 1,511.95 และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวลง 49.19 จุด หรือ 1.53%
สู่ระดับ 3,164.41
        ดัชนี S&P 500 ร่วงลงในวันพุธมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.
        จำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวก 3 ต่อ 1 ในตลาดนิวยอร์คและ Nasdaq โดยมีปริมาณการซื้อขายราว 7.49 พันล้านหุ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์ค, Nasdaq และ NYSE MKT สูงกว่าปริมาณเฉลี่ยต่อวันของปีนี้ที่ 6.48 พันล้านหุ้น
        รายงานการประชุมเดือนม.ค.ของเฟดบ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่เฟดจำนวนมากแสดงความวิตกในเดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับแนวโน้มต้นทุนการซื้อสินทรัพย์มากขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE อาจชะลอลงก่อนการกระเตื้องขึ้นของตัวเลขการจ้างงาน
        การร่วงลงของตลาดในวันพุธบ่งชี้ถึงความวิตกของตลาด หลังจากการทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ โดยดัชนีความผันผวน (VIX) ซึ่งวัดความกลัวของนักลงทุนพุ่งขึ้น 19.3% ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นต่อวันมากที่สุดนับตั้งแต่
เดือนพ.ย. 2011
        หุ้นหลายตัวในกลุ่มต่างๆร่วงลงอย่างหนัก หลังการเปิดเผยผลประกอบการและแนวโน้มธุรกิจที่น่าผิดหวัง
        การร่วงลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ถ่วงตลาดหุ้นลงด้วย โดยราคาทองสปอตร่วงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค., ราคาทองแดงร่วงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนและราคาน้ำมันดิบสหรัฐร่วงลงมากกว่า 2 ดอลลาร์/บาร์เรล
        หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงมากที่สุด โดยได้รับผลกระทบจากผลประกอบการที่น่าผิดหวัง และจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ
        อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดไว้แล้วว่า ตลาดจะปรับฐานลงหลังจากดัชนีดาวโจนส์และ S&P 500 ปรับตัวเข้าใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
        หุ้นกลุ่มที่อยู่อาศัยปรับตัวลงโดยถูกกดดันจากผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาดของบริษัทโทลล์ บราเธอร์ส อิงค์ และจากการที่ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านใหม่ในสหรัฐลดลงในเดือนม.ค.
        ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมกำหนดนโยบายการเงินประจำวันที่ 29-30 ม.ค.เมื่อวานนี้ โดยรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนมองว่า เฟดอาจจำเป็นต้องชะลอหรือยุติมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ ก่อนที่การจ้างงานจะปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก
        ทั้งนี้ ในการประชุมวันที่ 29-30 ม.ค. เฟดได้ตัดสินใจเข้าซื้อตราสารหนี้ต่อไปในอัตรา 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนจนกว่าแนวโน้มในตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี รายงานการประชุมที่ออกมาเมื่อวานนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่เฟดมีความกังวลต่อความเสี่ยงในมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และข่าวนี้ได้กดดันตลาดหุ้นสหรัฐให้ร่วงลงอย่างรุนแรงเมื่อวานนี้
        ดัชนี S&P 500 ปิดตลาดดิ่งลง 1.24 % เมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนพ.ย.2012 ในขณะที่นักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่เฟดสายพิราบและเจ้าหน้าที่เฟดคนอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่เฟดสายพิราบต้องการให้เฟดดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แต่เจ้าหน้าที่เฟดคนอื่นๆต้องการให้เฟดดำเนินมาตรการอย่างระมัดระวัง
        รายงานการประชุมเฟดระบุว่า "กรรมการผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวนหนึ่งระบุว่า การประเมินประสิทธิภาพ, ต้นทุน และความเสี่ยงของมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายชะลอหรือยุติมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ ก่อนที่คณะกรรมการจะตัดสินว่าแนวโน้มในตลาดแรงงานได้ปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก"
        เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลงในไตรมาส 4/2012 แต่นักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ และเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเชื่อมั่นในเดือนม.ค.ว่า "เศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มเติบโตในอัตราปานกลาง"
        หลังจากมีการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดเมื่อวานนี้ ดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นขณะที่ราคาทองดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2012 ส่วนราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น โดยได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการดิ่งลงของตลาดหุ้นสหรัฐ
        นายมิลแลน มัลเรน จากบล.ทีดีกล่าวว่า "รายงานการประชุมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ความเห็นของเฟดที่มีต่อการดำเนินนโยบายการเงินเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้เรื่อยๆตลอดเวลา และแสดงให้เห็นว่า สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดมีความเห็นขัดแย้งกันมากกว่าระยะเวลาใดๆในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา"
        คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ประกอบด้วยกรรมการ 19 คน ขณะที่รายงานการประชุมระบุว่า เจ้าหน้าที่ "หลายคน" แสดงความกังวลต่อต้นทุนในการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่อไป อย่างไรก็ดี ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายบางคนแสดงความเห็นแบบสายเหยี่ยว โดยกล่าวว่าเฟดจำเป็นต้องปรับลดมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ แต่ความเห็นดังกล่าวก็ได้รับการถ่วงดุลด้วยเจ้าหน้าที่เฟดที่กล่าวเตือนว่า การยุติโครงการเข้าซื้อ
ตราสารหนี้ก่อนเวลาอันควรก็เป็นสิ่งที่อันตรายเช่นกัน
        เฟดระบุว่า "เจ้าหน้าที่บางคนโต้แย้งว่า การปรับลดหรือยุติมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์เร็วเกินไป เป็นสิ่งที่อาจต้องใช้ต้นทุนสูงเช่นกัน"
        นักวิเคราะห์บางรายตั้งข้อสังเกตว่า รายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 29-30 ม.ค. อาจจะบ่งชี้ถึงแนวโน้มแบบสายพิราบมากกว่ารายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 11-12 ธ.ค. เพราะรายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 11-12 ธ.ค. ระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดบางคนมองว่า เฟดอาจจำเป็นต้องชะลอหรือยุติมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ "เป็นเวลานานก่อนสิ้นปี 2013" แต่รายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 29-30 ม.ค. ไม่ได้ระบุกำหนดเวลาว่าเฟดควรยุติมาตรการดังกล่าวเมื่อใด
        ความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างสมาชิก FOMC จะส่งผลให้นักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่คำแถลงรอบครึ่งปีของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด โดยนายเบอร์นันเก้จะแถลงนโยบายการเงินต่อคณะกรรมาธิการสองชุดในสภาคองเกรสในสัปดาห์หน้า
        นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่า นายเบอร์นันเก้และสมาชิกกลุ่มหลักในFOMC สนับสนุนนโยบายของเฟดในการเข้าซื้อสินทรัพย์
        ในช่วงปลายปี 2012 เฟดเริ่มให้สัญญาว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้ 0 % ต่อไป จนกว่าอัตราการว่างงานจะร่วงลงสู่ 6.5 % และตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นเหนือ 2.5 % ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
        เจ้าหน้าที่เฟดคนหนึ่งเสนอแนะว่า เฟดอาจจะปรับลดตัวเลขเกณฑ์อัตราการว่างงานลงสู่ 6 % เพื่อเป็นการส่งแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
        เจ้าหน้าที่เฟดคนอื่นๆเสนอแนะว่า เฟดอาจจะถือครองตราสารหนี้ที่เข้าซื้อไปแล้วเป็นเวลานานกว่าที่เคยวางแผนไว้ เพื่อเป็นการส่งแรงกระตุ้นทางการเงินมากยิ่งขึ้น
        เฟดได้ขยายขนาดงบดุลของตนเองไปแล้วกว่า 3 เท่าจากระดับในปี 2008โดยขยายขนาดออกสู่ระดับราว 3 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ผ่านทางมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้
        เฟดระบุว่าจะปรับลดขนาดงบดุลลงเมื่อถึงเวลาที่เฟดต้องคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยรายงานการประชุมเฟดระบุว่า เฟดจะใช้การประชุมประจำวันที่ 19-20มี.ค. ในการทบทวนถ้อยคำที่เฟดเคยใช้ในแถลงการณ์ครั้งก่อนๆในส่วนที่เกี่ยวกับต้นทุนของการดำเนินนโยบายแบบพิเศษ
        นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา กล่าวว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษของเฟดยังคงเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล
        นายล็อคฮาร์ทกล่าวว่า "ผมจะไม่กล่าวในขณะนี้ว่า ต้นทุนในการดำเนินภาวะผ่อนคลายเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนระยะยาวที่ไม่มีความแน่นอนนั้นได้บดบังผลประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินภาวะผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ"
        ดอลลาร์พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์เมื่อเทียบกับยูโรและปรับตัว ขึ้นเมื่อเทียบกับเยนในวันพุธ หลังรายงานการประชุมครั้งล่าสุดจากธนาคารกลาง สหรัฐ (เฟด) บ่งชี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายอาจต้องชะลอหรือยุติการซื้อสินทรัพย์ก่อนที่ จะเห็นการกระเตื้องขึ้นของตัวเลขการจ้างงาน
        ดอลลาร์ออสเตรเลีย, ดอลลาร์แคนาดาและดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง ขณะที่การร่วงลงของตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์กระตุ้นให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ เสี่ยง และปอนด์ร่วงลงจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะผ่อนคลาย นโยบายการเงิน
        รายงานประชุมเฟดบ่งชี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายมีความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับ ค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงของโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งทำให้มี การคาดการณ์ว่า เฟดอาจชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วๆนี้
        ดอลลาร์ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ก่อนเฟดเปิดเผยรายงานประชุม ขณะที่ความอ่อนแอ ของตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ และการคาดการณ์เกี่ยวกับแรงขายสินทรัพย์ของกลุ่ม เฮดจ์ฟันด์กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย
        ดัชนีดอลลาร์ซึ่งวัดค่าดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้า 6 สกุลเงิน เพิ่มขึ้น 0.8%  สู่ 81.078 หลังแตะระดับสูงถึง 81.116 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย.     
        เฟดลงมติในเดือนที่ผ่านมาที่จะคงมาตรการ QE3 โดยซื้อพันธบัตรวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนไปจนกว่าตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราการ ว่างงานอยู่ที่ระดับ 7.9%
        ยูโรร่วงลง 0.8% สู่ 1.3278 ดอลลาร์ หลังร่วงต่ำถึง 1.3273 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. และยูโรลดลง 0.7% สู่ 124.41 เยน
        ดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.2% สู่ 93.69 เยน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร สหรัฐเพิ่มขึ้น
        ปอนด์ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2010 เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยร่วงลง 1.2% สู่ 1.5238 ดอลลาร์หลังการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางอังกฤษ บ่งชี้ถึงแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
        ดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 1% สู่ 1.0246 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 1.5% สู่ระดับ 0.8339 ดอลลาร์สหรัฐ
        ราคาทองร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนในวันนี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นวันที่ 3 จากความวิตกที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจยุติหรือชะลอโครงการซื้อพันธบัตร
        ราคาทองร่วงลงพร้อมกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า กองทุนเฮดจ์ฟันด์แห่งหนึ่งจำเป็นต้องเทขายสัญญาโลหะและน้ำมันออกมา
        ราคาสัญญาทองส่งมอบเดือนเม.ย.ที่ตลาดนิวยอร์คร่วงลงแตะ 1,560.3ดอลลาร์/ออนซ์ในวันนี้ หลังจากดิ่งลงแตะ 1,554.3 ดอลลาร์ในช่วงแรก ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 เดือน
        เฟดเปิดเผยรายงานการประชุมกำหนดนโยบายการเงินประจำวันที่29-30 ม.ค.เมื่อวานนี้ โดยรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนมองว่า เฟดอาจจำเป็นต้องชะลอหรือยุติมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ก่อนที่การจ้างงานจะปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก
        SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองรายใหญ่ที่สุดของโลกเปิดเผยว่า สัดส่วนการถือครองทองของ SPDR ร่วงลง 1.57% สู่ระดับ1,299.164 ตัน ณ วันที่ 20 ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 เดือน
        นักวิเคราะห์ทางเทคนิคคาดว่า ราคาทองสปอตอาจร่วงลงสู่ 1,538-1,548 ดอลลาร์/ออนซ์ในวันนี้ โดยมีแนวรับที่ 1,527 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปีที่แล้ว
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
 
T.Thammasak
 
กำลังโหลดความคิดเห็น