xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย จีดีพีไตรมาส 4 ลด 0.1% เฟด เดินหน้า QE3+QE4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ  ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสสี่หดตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ นับว่าเป็นตัวเลขตำต่ำที่สุดนับตั้งแต่พ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปเมื่อปี 2552 และภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐทั้งปีโตแค่ 2.2% เท่านั้น
       ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น(fed funds rate) อยู่ในกรอบ 0-0.25% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ได้กำหนดไว้ในการประชุมเดือนธ.ค.2008 โดยย้ำว่าเฟดจะยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไปจนกว่าอัตราการว่างงานจะลดลงแตะระดับ 6.5% ตราบใดที่เงินเฟ้อไม่มีแนวโน้มที่จะพุ่งเกิน 2.5%
        ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติ 11 ต่อ 1 เสียงในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0-0.25% โดยระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ประสบภาวะชะงักงัน แต่การชะลอตัวดังกล่าวจะดำเนินไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น
        ขณะเดียวกัน เฟดประกาศเดินหน้าโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ในวงเงินรวมกัน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนต่อไป จนกว่าแนวโน้มการจ้างงานจะดีขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฟดจะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 4 (QE4) ที่ประกาศใช้ในเดือนธ.ค.2012 และซื้อ MBSในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3)ที่ประกาศใช้ในเดือนก.ย.2012
        ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เฟดประกาศใช้มาตรการ QE4 โดยระบุว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรอบใหม่ในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อทดแทนการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในโครงการ Operation Twist ในวงเงินเดียวกันที่จะหมดอายุลงในสิ้นปี 2012 และเฟด ยังเปิดเผยว่าจะยังคงซื้อ MBS ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ทุกเดือนตามมาตรการ QE3
        ทั้งนี้ Operation Twist คือการที่เฟดขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นประเภทที่มีอายุไม่เกิน 3 ปีในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปในวงเงินเดียวกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อกดดันอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดต่ำลง
        แถลงการณ์เฟดวานนี้ยังระบุย้ำว่า เฟดจะยังคงซื้อพันธบัตรต่อไป จนกว่าแนวโน้มการจ้างงานจะดีขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฟดระบุถึงตลาดแรงงานของสหรัฐในขณะนี้ว่ายังคงมีการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย
  สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ของสหรัฐเปิดเผยข้อมูลสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ม.ค.เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 5.95 ล้านบาร์เรล สู่ 369.1 ล้านบาร์เรล, สต็อกน้ำมันกลั่นดิ่งลง 2.32ล้านบาร์เรล สู่ 130.6 ล้านบาร์เรล, สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 956,000 บาร์เรล สู่232.3 ล้านบาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันพุ่งขึ้น 1.4 %
        ก่อนหน้านี้โพลล์รอยเตอร์คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบอาจเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล,  สต็อกน้ำมันกลั่นอาจลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล, สต็อกน้ำมันเบนซินอาจลดลง1 แสนบาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันอาจลดลง 0.3%
          ตัวเลขจ้างงานเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นสูงเกินคาดในม.ค.  ADP Employer Services เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนในสหรัฐเพิ่มขึ้น 192,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. และตัวเลขนี้บ่งชี้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง
        ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดว่า ตัวเลขการจ้างงานทั่วประเทศอาจเพิ่มขึ้น 165,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค.
        มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐหดตัวลงอย่างพลิกความคาดหมายในไตรมาส 4/2012 โดยหดตัวลง 0.1 % และได้รับแรงกดดันบางส่วนจากการดิ่งลงของงบใช้จ่ายของรัฐบาลและจากการลดลงของสต็อกสินค้าคงคลังในภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์กล่าวย้ำว่า การหดตัวในครั้งนี้ไม่ใช่สัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอย
        นายเคิร์ท คาร์ล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทสวิส รีกล่าวว่า "อัตราการว่างงานมีแนวโน้มร่วงผ่านระดับ 6.5 % ลงไปในปีหน้า ดังนั้นเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2014 ส่วนแรงกดดันทางการคลังที่เกิดจากการปรับขึ้นภาษีจะได้รับการชดเชยในไตรมาสนี้ด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากพายุแซนดีดังนั้นอัตราการเติบโตที่แท้จริงของจีดีพีจึงอาจจะอยู่ที่ 2 %"
        ดัชนี S&P 500 สามารถปิดตลาดเหนือระดับ 1,500 ในขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าระดับดังกล่าวเป็นระดับสำคัญที่จะกำหนดทิศทางโดยรวมของตลาดในระยะใกล้ ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าดัชนี S&P 500 อาจปิดตลาดเดือนม.ค.ด้วยการพุ่งขึ้นรายเดือนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2011 และอาจถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับเดือนม.ค.นับตั้งแต่เดือนม.ค. 1997 เป็นต้นมา
        หุ้นบริษัทเชสซาพีค เอ็นเนอร์จี ซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่อันดับสองของสหรัฐพุ่งขึ้น 6 % หลังจากเชสซาพีคระบุในวันอังคารว่า นายออเบรย์  แมคเคลนดอนจะลงจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัท
        หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐปิดทำการ หุ้นบริษัทเฟซบุ๊ค อิงค์ดิ่งลง 5.9 %เมื่อบริษัทประกาศผลประกอบการออกมา โดยเฟซบุ๊คระบุว่า รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้น 40 % ต่อปีในไตรมาส 4 สู่ระดับ 1.585 พันล้านดอลลาร์
  เม็ดเงินไหลเข้ากองทุนรวมหุ้นสหรัฐสูงเป็นประวัติการณ์ 5.5 หมื่นล้านดอลล์    ข้อมูลจาก TrimTabs Investment Research ระบุว่า นักลงทุนได้เข้าลงทุนในกองทุนรวมหุ้นและกองทุน ETF คิดเป็นมูลค่า 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบรายเดือน 
        กองทุนรวมหุ้น และกองทุน ETF ของสหรัฐได้รับเม็ดเงินลงทุน 2.52หมื่นล้านดอลลาร์จากยอดรวมทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนม.ค.2004ขณะที่กองทุนรวม และกองทุน ETF ทั่วโลกได้รับเม็ดเงินลงทุน 2.98 หมื่นล้านดอลลาร์
        ปริมาณเงินทุนไหลเข้ากองทุนหุ้นทั้งหมดทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งก่อนที่ 5.37 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ.2000
        ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 5.4% แล้วในเดือนนี้ และนักวิเคราะห์ระบุว่าปริมาณเงินทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมากในเดือนนี้เป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้น รวมทั้งผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินคาดของภาคเอกชน และการบรรลุข้อตกลงของสมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ "fiscal cliff" หรือภาวะหน้าผาการคลัง
        ข้อมูลของบริษัทลิปเปอร์ เซอร์วิสในเครือธอมสัน รอยเตอร์ ซึ่งติดตามข้อมูลกองทุนที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐเท่านั้น ระบุว่า ในรอบ 3 สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ม.ค. กองทุนหุ้นได้รับเงินทุนจากนักลงทุนรายย่อยคิดเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2011 และในรอบ 3 สัปดาห์ล่าสุด มีเงินทุนไหลเข้าเฉพาะกองทุนหุ้นคิดเป็นมูลค่า 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ช่วง 3 สัปดาห์ติดต่อกันในช่วงต้นปี 2001 มีเงินทุนไหลเข้ากองทุน 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์
        นักลงทุนยังลงทุนในกองทุนรวมหุ้นและกองทุน ETF ของสหรัฐคิดเป็นมูลค่า 6.1 พันล้านดอลลาร์เฉพาะในรอบ 5 วันทำการที่ผ่านมา ขณะที่กองทุนหุ้นได้รับเม็ดเงินลงทุน 9.3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว
(ข้อมูลข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
 
T.Thammasak
 
กำลังโหลดความคิดเห็น