xs
xsm
sm
md
lg

หุ้น-บอนด์เมืองลุงแซมไม่คึกคัก กูรูชี้เลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่ช่วยอะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.กสิกรไทยชี้หลังเลือกตั้งสหรัฐฯ ตลาดเงิน-ตลาดหุ้นไม่คึกคัก ส่งผลให้ทิศทางดัชนีหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวลงถ้วนหน้า หลังนักลงทุนยังหวาดผวาปัญหาหน้าผาทางการคลัง

นายอาทิตย์ ทองเจริญ ผู้บริหารงานจัดหาผลิตภัณฑ์พิเศษ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนหลังการเลือกตั้งในสหรัฐฯ แม้จะไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายนัก กับการที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่ 2 ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าตลาดการเงินกลับไม่ตอบรับในทางบวกต่อผลการเลือกตั้งเท่าใดนัก ดังจะสังเกตได้จากดัชนีหุ้นสหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากเลือกตั้ง โดยนับตั้งแต่ 6-15 พฤศจิกายน 2555 ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 5% และส่งผลให้ทิศทางดัชนีหุ้นทั่วโลกต่างก็ปรับตัวลงถ้วนหน้า

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างเกิดความกังวล และกดดันตลาดการเงินให้มีความผันผวนและปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาดหุ้น ได้แก่ความกังวลในปัญหาที่เรียกว่า Fiscal Cliff หรือหน้าผาทางการคลัง ซึ่งจะมีเหตุการณ์สำคัญทางด้านการคลังเกิดขึ้น 2 อย่างในสิ้นปีนี้ คือ การสิ้นสุดการต่ออายุมาตรการการปรับลดภาษี ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 อย่างหากเกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยประมาณกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมากเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่ในภาวะหดตัวได้

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังจากนี้นอกเหนือจากปัญหา Fiscal Cliff แล้ว ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้เริ่มปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มไตรมาส 4 โดยได้รับปัจจัยลบจากผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดความกังวล และกดดันดัชนีหุ้นลงมา โดยสาเหตุที่ผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าคาดก็มาจากการที่บริษัทส่วนใหญ่ได้ชะลอการใช้จ่ายลงมาเนื่องจากกังวลกับปัญหา fiscal cliff รวมถึงชะลอการใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยรวมแล้วจะพบว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่สามารถขยายตัวได้สูงถึง 2% เทียบกับไตรมาส 2 ที่ 1.30% นอกจากนี้ ตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (PMI) ก็ปรับตัวยืนอยู่เหนือระดับ 50 จุด ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงถึงการขยายตัวของภาคการผลิตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ในขณะที่อัตราการว่างงานก็ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 7.90% เมื่อเทียบกับต้นปีที่ระดับเหนือ 8 % ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง น่าจะส่งผลต่อดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ให้ยังคงมีทิศทางที่ปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องในระยะยาว

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ส่งสัญญาณตลาดหุ้นขาขึ้น ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ซึ่งในอดีตตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจะมีความสัมพันธ์เป็นดัชนีชี้นำ และสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) โดยเมื่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ก็จะปรับตัวขึ้นตามมา โดยตัวเลขดัชนีผู้บริโภคล่าสุด ณ เดือนพฤศจิกายน 2555 อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่ได้มีความกังวลกับปัญหา Fiscal Cliff และยังคงมีการจับจ่ายใช้สอยอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ มียอดขายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลถึงผลกำไรและราคาหุ้นที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า GDP ของสหรัฐฯ นั้นประกอบด้วยการบริโภคถึงกว่า 2 ใน 3 การขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น