xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์ชี้หุ้นสหรัฐยังคงมีราคาถูก แม้ดัชนี S&P 500 ดีดตัวใกล้นิวไฮ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เป็นเรื่องง่ายที่จะกล่าวว่าหุ้นสหรัฐมีราคาถูกในเดือนมี.ค. 2009 เพราะดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงราว 50 %ในช่วงนั้น อย่างไรก็ดี หลังจากเวลาผ่านมานานเกือบ 4 ปี ตลาดหุ้นสหรัฐก็สามารถลดช่วงติดลบกลับขึ้นมาได้เกือบหมดแล้ว และกำลังดีดตัวเข้าใกล้สถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย
        ภาวะดังกล่าวอาจทำให้มีการมองกันว่าตลาดหุ้นอาจถึงเวลาปรับฐานอย่างไรก็ดี นักยุทธศาสตร์การลงทุนหลายรายกล่าวว่า ตลาดหุ้นอาจปรับตัวขึ้นต่อไปโดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยบางประการ ซึ่งรวมถึงการที่เศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการที่หุ้นสหรัฐมีราคาถูก โดยนักยุทธศาสตร์การลงทุนบางรายคาดว่าตลาดหุ้นอาจเข้าสู่ภาวะกระทิงรอบใหม่ด้วย
        นายจิม พอลเสน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทเวลส์ แคปิตัล  แมเนจเมนท์ กล่าวว่า "ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนตั้งคำถามว่า 'คุณใช้ความระมัดระวังทางการลงทุนมากพอหรือไม่ ท่ามกลางภาวะเสี่ยงสูงนี้'
        "ผมคิดว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่นั้น คำถามดังกล่าวก็จะเปลี่ยนเป็น 'คุณใช้ความระมัดระวังทางการลงทุนมากเกินไปหรือไม่ ขณะที่ตลาดอาจอยู่ในภาวะกระทิงรอบใหม่'"
        ดัชนี S&P 500 ปิดตลาดวันอังคารที่ 1,519.43 และอาจพุ่งขึ้นเหนือสถิติสูงสุดที่ 1,576.09 ได้ในเวลาไม่นาน โดยสถิติดังกล่าวทำไว้ในวันที่ 11 ต.ค. 2007
        ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดวันอังคารที่ 14,018.70 ซึ่งอยู่ห่างจากสถิติสูงสุดเพียงราว 1 % เท่านั้น โดยสถิติอยู่ที่ 14,164.53 ซึ่งทำไว้ในวันที่ 9 ต.ค. 2007
        อย่างไรก็ดี มูลค่าหุ้นเมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ผลกำไรแสดงให้เห็นว่า หุ้นสหรัฐขณะนี้มีราคาถูกกว่าในปี 2007 นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐก็ส่งสัญญาณว่ากำลังปรับตัวดีขึ้นในช่วงนี้ แทนที่จะแตะจุดสูงสุดไปแล้ว และผลกำไรของภาคเอกชนในปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้พึ่งพาภาคการเงินที่มีหนี้สินสูงเหมือนกับในอดีตด้วย
       มาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ของเฟดได้ช่วยหนุนการลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา และปัจจัยดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่า ตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างเมื่อเฟดระบุว่าพร้อมที่จะคุมเข้มนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดีอาจจะต้องใช้เวลาอีกนานก่อนที่เฟดจะคุมเข้มนโยบาย เพราะเฟดระบุว่าตั้งเป้าอัตราการว่างงานไว้ที่ 6.5 % ซึ่งในเดือนม.ค.อยู่ที่ 7.9 %
        นอกจากนี้ ถ้าหากเฟดยุตินโยบายผ่อนคลายทางการเงิน การกระทำดังกล่าวก็จะถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังปรับตัวขึ้นด้วย
        อีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นคือกระแสไหลเวียนของเงินลงทุนจำนวนมาก
        ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงต้นปีนี้ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ทะยานขึ้น 7 % และเหตุการณ์นี้ก็ดึงดูดเงินลงทุนให้ไหลเข้าสู่กองทุนรวมหุ้นในระยะ 5 สัปดาห์ในปริมาณสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปี 2000 เป็นต้นมา
        เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับแรงกระตุ้นบางส่วนจากความกังวลที่ว่าราคาตราสารหนี้อาจจะร่วงลงหลังจากพุ่งขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำ นักลงทุนจึงไม่พึงพอใจกับอัตราผลตอบแทนที่ระดับต่ำที่ได้รับจากเงินฝากในธนาคารหรือจากการลงทุนในกองทุนตลาดเงิน
        นักลงทุนบางรายกังวลว่า ตลาดหุ้นอาจจะพุ่งขึ้นมากเกินไปแล้วอย่างไรก็ดี การดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาได้รับแรงหนุนจากการทำข้อตกลงควบรวมกิจการที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
        การควบรวมกิจการในทวีปอเมริกาพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 4โดยมีการประกาศทำข้อตกลงควบรวมกิจการราว 4.27 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 ของปี 2012 เทียบกับ 2.72 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4
ของปี 2011
        กระแสควบรวมกิจการดำเนินต่อไปอย่างมากในช่วงต้นปีนี้ โดย นายไมเคิล เดลล์และบริษัทซิลเวอร์ เลคได้เสนอที่จะใช้เงิน 2.44 หมื่นล้านดอลลาร์ในการเข้าซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ในเดลล์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตคอมพิว
เตอร์รายใหญ่
        การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก (IPO) และการเสนอขายหุ้นในตลาดรองก็อยู่ในภาวะแข็งแกร่งเช่นกัน โดยบริษัท 76 แห่งได้เสนอขายหุ้นในสหรัฐเพื่อระดมทุนรวมกันราว 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นปริมาณสูงสุดสำหรับช่วงต้นปีนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา
        หนึ่งในตัวแปรพื้นฐานที่นักลงทุนใช้ในการวัดมูลค่าหุ้นคือค่าพี/อี เรโช ล่วงหน้า หรือปริมาณเงินดอลลาร์ที่นักลงทุนจำเป็นต้องจ่ายเพื่อแลกกับผลกำไรทุกหนึ่งดอลลาร์ที่คาดว่าบริษัทแห่งนั้นจะได้รับในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า
        ข้อมูลปัจจุบันบ่งชี้ว่า ทั้งค่าพี/อีเรโชล่วงหน้าและค่าพี/อีเรโช ย้อนหลังสำหรับบริษัทสหรัฐในปัจจุบันนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าในเดือนต.ค.2007 ราว 11-13 %
        นายพอล เซมสกี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรสินทรัพย์ในบริษัทไอเอ็นจี อินเวสท์  เมนท์ แมเนจเมนท์ กล่าวว่า "ผลกำไรภาคเอกชนในปัจจุบันนี้มีคุณภาพและความยั่งยืนที่ดีกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก และคุณก็จ่ายเงินน้อยลงสำหรับผลกำไรดังกล่าวด้วย เพราะค่าพี/อีเรโชลดลง"
        "สัดส่วนผลกำไรที่มาจากสถาบันการเงินลดต่ำลงมากเมื่อเทียบกับในอดีตและสัดส่วนผลกำไรที่มาจากบริษัทที่มีหนี้สินสูงก็ลดต่ำลงด้วย"
        ภาคการเงินเคยครองสัดส่วนสูงกว่า 20 % ในดัชนี S&P 500 ในเดือน ต.ค. 2007 โดยได้รับแรงหนุนจากผลกำไรที่สูงเป็นประวัติการณ์ในบางบริษัท เช่น เลห์แมน บราเธอร์ส ก่อนที่เลห์แมนจะล้มละลายในวิกฤติการเงิน
        ปัจจุบันนี้ภาคการเงินครองสัดส่วนเพียง 15.7 % ในดัชนี S&P 500 ขณะที่เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นกับภาคเทคโนโลยีในช่วงที่เกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอินเทอร์เน็ต โดยภาคดังกล่าวเคยครองสัดส่วนสูงถึง 34.5 % ในดัชนี S&Pในปี 2000 แต่มีสัดส่วนเพียง 19.2 % เท่านั้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ภาคเทคโนโลยี
ยังคงเป็นภาคที่ครองสัดส่วนสูงสุดใน S&P 500
        ในเดือนต.ค. 2007 มีหุ้น 5 กลุ่มจากทั้งหมด 10 กลุ่มในดัชนี S&P 500ที่ต่างก็ครองสัดส่วนสูงกว่า 10 % ในดัชนี S&P 500 อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้มีหุ้น 7 กลุ่มจากทั้งหมด 10 กลุ่มที่ต่างก็ครองสัดส่วนสูงกว่า 10 % ในดัชนี S&P 500 และสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าน้ำหนักหุ้นแต่ละกลุ่มมีการกระจายกันออกไปอย่างสมดุล
มากยิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่าผลกำไรภาคเอกชนในปัจจุบันนี้ไม่ได้พึ่งพาภาวะฟองสบู่ในอุตสาหกรรมประเภทเดียวเหมือนกับในอดีต
        เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นถึงแม้อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงโดยตัวเลขตำแหน่งงานในสหรัฐเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 200,000 ตำแหน่งต่อเดือนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทะยานขึ้นแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 2008
        นายแบรด ลิปซิก ผู้จัดการพอร์ทลงทุนของบริษัทยูบีเอส ไฟแนนเชียลเซอร์วิสเซส อิงค์ กล่าวว่า "ถ้าหากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและตัวเลขการจ้างงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อไป นักลงทุนก็อาจจะประหลาดใจกับเรื่องนี้ และจะกระตุ้นให้มีเงินลงทุนระลอกใหม่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น"
        การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเฉื่อยชาส่งผลให้เฟดดำเนินมาตรการแก้วิกฤติอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนมองว่าเฟดคือปัจจัยหลักที่กระตุ้นการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แทนที่จะเป็นปัจจัยพื้นฐานของตลาด และนักลงทุนก็กังวลว่าตลาดอาจจะมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรง เมื่อใดก็ตามที่เฟดเริ่มต้นถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นในปี 2014
        ตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการที่เฟดช่วยลดความเสี่ยงในตลาดและการที่เฟดกดดันอัตราดอกเบี้ยให้ลดลงก็ส่งผลให้หุ้นมีความน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้นและถ้าหากอัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตเพราะภาวะเงินเฟ้อสถานการณ์ดังกล่าวก็จะส่งผลเสียต่อตลาดหุ้น
        อย่างไรก็ดี ถึงแม้ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นเหนือสถิติสูงสุดที่ 1,576.09 ในอนาคต แต่ระดับดังกล่าวก็จะไม่เท่ากับจุดสูงสุดของปี 2007 อย่างแท้จริงเพราะถ้าหากมีการนำอัตราเงินเฟ้อมาคำนวณด้วยแล้ว ดัชนี S&P 500 ก็จำเป็นต้องทะยานขึ้นสู่ 1,700 ถึงจะสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ได้อย่างแท้จริง
        นักยุทธศาสตร์การลงทุนคาดว่า ตลาดหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อไปขณะที่นักลงทุนรายย่อยกล้าลงทุนแบบเสี่ยงสูงมากยิ่งขึ้น
        นายลิปซิกกล่าวว่า "การเปลี่ยนจากภาวะเทขายหุ้นอย่างตื่นตระหนกมาเป็นภาวะฟองสบู่นั้น อาจจะต้องใช้เวลานานกว่า 4 ปี
(ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวรอยเตอร์)
 
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น