“สิงห์” ปูทางตลาดโลก ใช้คาร์ลสเบอร์กเป็นฐานสปริงบอร์ด หวังก้าวสู่อันดับ 3 แบรนด์เอเชีย อัดงบตลาดปั้นเบียร์คาร์ลสเบอร์ก 200 ล้านบาทปีแรก หวังเป็นผู้นำแชร์ 51% กลุ่มพรีเมียมโค่นไฮเนเก้นใน 5 ปี ใช้คาร์ลสเบอร์กต่างประเทศเป็นฐานผลิตลดต้นทุนบุกตลาดโลก
นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการบริหาร บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า เป้าหมายของเบียร์สิงห์ต้องการขึ้นเป็นผู้นำท็อปทรีในตลาดอาเซียนเพื่อก้าวเป็นอาเซียนแบรนด์ให้ได้ จากปัจจุบันอยู่อันดับ 5 ในแง่ยอดขาย โดยจะมีพันธมิตรทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย ซึ่งผู้นำอันดับต้นๆ ในเอเชีย คือ กลุ่มคิรินของญี่ปุ่น และกลุ่มอาซาฮีของญี่ปุ่น
ดังนั้น การที่สิงห์จับมือเป็นพันธมิตรกับเบียร์คาร์สเบอร์กที่เป็นเบียร์อันดับที่ 4 ของโลกจากเดนมาร์ก จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการต่อยอดเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างดี เพราะไม่ใช่เพียงแค่การเป็นผู้จัดจำหน่ายเบียร์คาร์ลสเบอร์กรายเดียวในไทยเท่านั้น แต่ในสัญญาเปิดกว้างต่อการร่วมมือกันในด้านอื่นๆ ด้วย สัญญาพันธมิตรครั้งนี้นาน 5 ปี สิงห์ตั้งเป้ายอดขายคาร์ลสเบอร์กไว้ที่ 5 ล้านลิตรในปีแรก และงบการตลาด 200 ล้านบาทในปีแรก และเพิ่มงบขึ้น 15-20% ทุกปี ตั้งเป้าเป็นผู้นำเบียร์พรีเมียมด้วยยอดขาย 35 ล้านลิตรต่อปีหรือแชร์ตลาด 51% ช่วงแรกนำเข้าคาร์ลสเบิร์กแบบขวดจากลาว และแบบกระป๋องจากเวียดนาม ราคาขายเท่ากับไฮเนเก้น จับกลุ่มเป้าหมายอายุ 25-30 ปี ผู้ชายที่ต้องการความตื่นเต้นและท้าทายชีวิต วางจำหน่ายในช่องทางที่เหมาะสมระดับพรีเมียมเพราะไม่ได้เป็นเบียร์แมส ประมาณ 21 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ที่เป็นตลาดพรีเมียมเป็นหลัก ผ่านเอเยนต์กว่า 100 รายของสิงห์เอง
นายปิติกล่าวว่า สาเหตุที่สนใจทำคาร์ลสเบอร์กเพราะตลาดเบียร์พรีเมียมในไทยแม้ว่าขณะนี้มีมูลค่าแค่ 630 ล้านบาท และเคยมีปริมาณสูงถึง 100 ล้านลิตรต่อปี แต่ช่วงหลังไม่มีการเติบโตเหลือแค่ 75 ล้านลิตรต่อปีเท่านั้น เนื่องจากมีผู้เล่นในตลาดรายเดียวคือแบรนด์ไฮเนเก้นจึงไม่มีการแข่งขัน ตลาดไม่หวือหวา แต่เป็นตลาดที่มีมาร์จิ้นสูงกว่าเบียร์กลุ่มสแตนดาร์ดและเบียร์อีโคโนมี แต่เมื่อสิงห์เข้ามาทำตลาดพรีเมียมโดยใช้แบรนด์คาร์ลสเบอร์กมั่นใจว่าจะทำให้ตลาดคึกคักและแข่งขันขึ้นมาทันที ทำให้ตลาดพรีเมียมจะเติบโตได้ 10-12% ต่อปี มากกว่าตลาดเบียร์รวมที่เติบโตแค่ 8%
นั่นหมายความว่าจากนี้ไปกลุ่มสิงห์จะมีเบียร์ครบทุกเซกเมนต์ ทั้งลีโอในอีโคโนมี สิงห์ในกลุ่มสแตนดาร์ด และคาร์ลสเบอร์กในกลุ่มพรีเมียม โดยตั้งเป้าหมายยอดขายรวมปีนี้จะเติบโต 8% จากปีที่แล้วที่มียอดขายรวม 103,000 ล้านบาท และมั่นใจว่าปีนี้แชร์รวมของสิงห์ทั้งหมดรวมคาร์ลสเบิร์กด้วยจะมีมากถึง 68-70% จากตลาดรวม จากขณะนี้ที่มีแชร์รวม 68%
ใช้คาร์ลสเบอร์กเป็นสปริงบอร์ด
นายปิติกล่าวด้วยว่า การจับมือกับคาร์ลสเบอร์กครั้งนี้ ถือว่าวินวินด้วยกันทั้งคู่ เพราะว่านโยบายการรุกธุรกิจของสิงห์ คือ 1. สิงห์จะไม่เทกโอเวอร์กิจการใดๆ 2. สิงห์จะไม่ร่วมมือกับคนที่เอาเปรียบเรา หรือเราจะเอาเปรียบเขา และย้ำว่าเรามองไปถึงอนาคตร่วมกัน อย่างน้อย 3-5 ปีจากนี้ทั้งในเออีซี ตลาดเอเชีย และตลาดโลก
สิงห์มีโอกาสที่จะใช้ฐานการผลิตทั่วโลกของคาร์ลสเบอร์กเป็นฐานผลิตได้ ส่วนหนึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย เพราะคาร์ลสเบอร์กมีฐานผลิตทั่วโลก เพราะถ้าสิงห์ต้องลงทุนสร้างโรงงานเองในต่างประเทศต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และไม่ใช่เรื่องง่ายด้วย
โดยเฉพาะในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะเปิดปี 2558 นั้นก็เป็นตลาดที่สำคัญที่มีประชากรรวม 600 ล้านคน คาร์ลสเบอร์กมีฐานการผลิตในเออีซีมากถึง 8 โรงงานคือ ที่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย รวม 1,250 ล้านลิตรต่อปี ขณะที่สิงห์เองมีโรงงานผลิตในไทยรวมกำลังผลิตแค่ 1,700 ล้านลิตรต่อปีเท่านั้น
อีกทั้งปริมาณการดื่มเบียร์ของคนไทยต่อคนต่อปียังต่ำแค่ 32 ลิตร ยังมีโอกาสอีกมาก เช่นเดียวกับตลาดประเทศอื่นเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี 50 ลิตร แต่ถ้าเฉลี่ยในเออีซีแล้วแค่ 15 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านันเอง ขณะที่ยุโรปดื่มมากถึง 60-75 ลิตรต่อคนต่อปี จึงหมายถึงโอกาสในเออีซียังมีอีกมาก และคาร์ลสเบอร์กจะเป็นฐานอย่างดี
ทั้งนี้ ได้เจรจากันบ้างแล้ว แต่เบื้องต้นจะยังไม่ใช่ในตลาดเออีซี แต่ว่าที่แรกคาดว่าจะใช้โรงงานของคาร์ลสเบิร์กที่รัสเซียผลิตให้ คาดวาจะเริ่มต้นไตรมาสที่ 2 ส่วนคาร์ลสเบอร์กเองก็อาจจะใช้ฐานการตลาดของสิงห์ในการรุกตลาดเอเซียได้มากขึ้นด้วย เพราะมีสินค้าในพอร์ตโฟลิโอมากกว่า 500 แบรนด์ที่สิงห์สามารถช่วยจัดการได้
นายปิติย้ำว่า สถานภาพของสิงห์จากนี้ต้องแข็งแกร่งและมั่นคงมากขึ้น โดยที่ต้องขยายธุรกิจทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเบียร์ ไม่ใช่เบียร์ อสังหาฯ ฟาร์ม ข้าว อื่นๆ ซึ่งตามเป้าหมายเดิม 5 ปี ซึ่งเหลืออีก 2 ปีที่สัดส่วนรายได้จากนอนแอลกอฮอล์จะเป็น 30% ส่วนแอลกอฮอล์เหลือ 70% ซึ่งขณะนี้ก็มีต่างชาติติดต่อเจรจากับเราหลายโครงการเหมือนกันไม่ใช่แค่ตลาดเบียร์เท่านั้น โดยตั้งเป้าหมายว่าตลาดต่างประเทศของสิงห์จะต้องเติบโต 25% ต่อปี