“คมนาคม” สั่ง สนข.วิเคราะห์รายละเอียดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมทวายเพิ่มเติม 5 ด้าน ลงลึกตัวเลขการลงทุนและเป้ารายได้รายปี ชี้ประมาณการหลายตัวยังไม่ชัดเจน หวั่นตั้งค่าบริการไว้สูงไม่จูงใจนักลงทุน เตรียมสรุปก่อนประชุมร่วมไทย-พม่า วันที่ 6-8 มี.ค.นี้ ขณะที่ญี่ปุ่นแนะแยกท่าเรือคอนเทนเนอร์กับท่าเรืออุตสาหกรรม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย วานนี้ (11 ก.พ.) ว่า เป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วิเคราะห์รายละเอียดเพิ่มเติมใน 5 ด้าน คือ 1. ปริมาณความต้องการสินค้าเข้า-ออก 2. โครงสร้างด้านราคา เข่น ค่าผ่านทาง ค่าภาระและระวางเรือที่กำหนดเป็นแบบขั้นบันไดเหมาะสมหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ 3. ประมาณการลงทุนกำหนดไว้ถูกต้องหรือไม่ 4. ระยะเวลาเหมาะสมหรือไม่ และ 5. ด้านเทคนิคต่างๆ เช่น ตำแหน่งของท่าเรือเหมาะสมหรือไม่
ทั้งนี้ ข้อมูลหลักที่คณะอนุกรรมการฯ วิเคราะห์มาจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งจะต้องทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันทั้งท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ถนน ทางรถไฟ เพื่อให้สินค้าเคลื่อนผ่านได้อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลหลายตัวที่ยังไม่ตรงกัน เช่น ต้นทุนค่าน้ำประปา ITD คิดไว้ที่ 23.5 บาท ต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนการประปาส่วนภูมิภาคคิดว่าควรอยู่ที่ 28.5 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เป็นต้น และล่าสุดทางญี่ปุ่นได้ให้ความเห็นว่าตำแหน่งของท่าเรือไม่เหมาะสมควรแยกท่าเรือคอนเทนเนอร์กับท่าเรืออุตสาหกรรมออกจากกัน เพราะตัววัตถุดิบจะเกิดก่อนและเพื่อให้การเข้าออกสะดวกไม่แออัดด้วย ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดียวกับท่าเรือแหลมฉบังที่รองรับตู้คอนเทนเนอร์แยกกับท่าเรือมาบตาพุดที่เป็นอุตสาหกรรม
“นอกจากนี้ ข้อมูลที่ ITD คิดไว้กับที่ภาครัฐมีก็ยังไม่ตรงกันอีก ต้องเขียนใหม่ให้ถูกต้อง โดยเฉพาะอัตราค่าบริการต่างๆ ถ้ากำหนดไว้สูงจะกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนโครงการ (IRR) แล้วยังจะทำให้ไม่มีนักลงทุนกล้าเข้ามาด้วย ตอนนี้รายละเอียดมีมาก ที่ต้องทำตัวเลขให้ชัดคือ ตัวเลขการลงทุนต่อปี รายได้หรือ Cash Flow ต่อปี ปริมาณสินค้าที่เข้าออกเป็นอย่างไร เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจมากขึ้น ตอนนี้มีแค่ประมาณว่าจะลงทุนรวม 2 เฟส ประมาณ 2.9 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนฝั่งไทยกว่า 9 หมื่นล้านบาท ฝั่งพม่า 1.9 แสนล้านบาท” นายชัชชาติกล่าว
ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 98 กิโลเมตร จะดำเนินการแน่นอน แต่ส่วนที่ต่อจากกาญจนบุรี-พุน้ำร้อน ชายแดนไทย-พม่า ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตรนั้นยังไม่ต้องเร่งพิจารณา รวมถึงเส้นทางรถไฟ ซึ่งเป็นแผนเฟส 2 ที่จะเริ่มดำเนินการหลังปี 2558 โดยทางพม่าต้องการให้ใช้รางความกว้าง 1.435 เมตร เนื่องจากฝั่งไทยไปถึงชายแดนพม่ามีระยะทางสั้นกว่าทางพม่า ควรรอดูท่าทีของพม่าก่อน หากทางพม่าชัดเจนและเริ่มก่อสร้างแล้วไทยค่อยลงทุนก็ยังทัน
โดยฝ่ายไทยจะมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมไทย-เมียนมาร์ ที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ เป็นการเตรียมประเด็นไว้สำหรับการประชุมในระดับคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมาร์ (JCC) วันที่ 6-8 มีนาคม 56