xs
xsm
sm
md
lg

คณะอนุกรรมการฯ สวล.แนะการแก้ปัญหาการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาและอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา
ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา แนะการแก้ไขปัญหากรณีชาวบ้านอ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี ได้รับความเดือดร้อนจากการวาง และขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์รอบพื้นที่ชุมชน

จากกรณีที่ชาวบ้านชุมชนบ้านอ่าวอุดม ตั้งอยู่ใกล้วัดใหม่เนินพะยอม ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้ร้องเรียนว่า ได้รับผลกระทบจากการวาง และการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์รอบพื้นที่ชุมชน โดยผู้ประกอบกิจการได้ทำการเช่าพื้นที่จากชาวบ้าน หรือเอกชน ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งนำมาวาง และขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์กระจายตัวรอบๆ พื้นที่ชุมชน เนื่องจากไม่มีที่วางในบริเวณท่าเทียบเรือแหลมฉบังอย่างเพียงพอ เพื่อรองรับกิจกรรมของท่าเที่ยบเรือแหลมฉบังที่กระจายตัวอยู่โดยรอบชุมชน ชุมชนได้รับผลกระทบที่เกิดจากการล้างตู้คอนเทนเนอร์ขนถ่ายสารเคมี ที่มีกลิ่นเหม็น รถบรรทุกที่วิ่งขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ในชุมชน ทำให้ถนนเสียหาย เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง บังทิศทางลม รวมทั้งมีฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย และมีเสียงดังรบกวนทั้งกลางวัน และกลางคืน

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาฯ และอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย นายกเทศบาลนครแหลมฉบัง ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดชลบุรี และผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) มาประชุมหารือที่อาคารสุขประพฤติ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2556 ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา มีข้อเสนอแนะดังนี้ คือ

กรณีการวางตู้คอนเทนเนอร์ และขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ในพื้นที่ชุมชนไม่ควรเกิดขึ้น แต่เนื่องจากผู้ประกอบกิจการ โดยเฉพาะสายการเดินเรือระหว่าประเทศ เห็นว่าการวางตู้คอนเทนเนอร์ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังมีราคาแพงต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จึงอาศัยช่องว่างของกฎหมายผังเมืองที่พื้นที่แหลมฉบังหมดอายุ และไม่มีเทศบัญญัติในการควบคุมการประกอบกิจการ ทำให้ผู้ประกอบกิจการไม่ต้องขออนุญาตต่อทางเทศบาล จึงทำให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญดังกล่าวขึ้น

ประกอบกับเทศบาลนครแหลมฉบัง ได้ทำหนังสือถึงกรมอนามัย เมื่อปี 2554 ขอให้กิจการเก็บวาง และขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ประกาศเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามมาตรา 31 เพื่อให้ท้องถิ่นใช้อำนาจตาม มาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เพื่อดำเนินการประกาศให้กิจการตู้คอนเทนเนอร์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการทำการขออนุญาตต่อเทศบาลก่อนดำเนินการ ซึ่งกรมอนามัย ได้มีหนังสือตอบกลับมายังเทศบาลแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ว่า อยู่ระหว่างการพิจารณา และหารือทางวิชาการ ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้กรมอนามัยเร่งดำเนินการประกาศให้กิจการดังกล่าวเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเร็ว เพื่อจะได้ทำการพิจารณาอนุญาตสถานที่ให้มีความเหมาะสม

สำหรับการวาง และการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ กรณีกิจการตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นแล้ว ขอความร่วมมือกรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) เทศบาลนครแหลมฉบัง ร่วมกับคณะกรรมการพหุภาคีเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือ ดำเนินการติดตามตรวจสอบ ควบคุมกำกับดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยให้เทศบาลนครแหลมฉบังเป็นเจ้าภาพดำเนินการต่อไป

นายสนธิ กล่าวต่อว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เป็นกฎหมายที่กระจายอำนาจในการควบคุมดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบกิจการฯ การอนุญาตประกอบกิจการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิด และมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมาตรา 31 ได้ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้กิจการใดเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยอาศัย มาตรา 32 ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อกำหนดของท้องถิ่น

เพื่อการกำกับดูแลการประกอบกิจการที่ประกาศตามมาตรา 31 ได้ และเมื่อพิจารณากิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 135 ประเภท พบว่า มีบางประเภทกิจการล้าสมัย และยังไม่ครอบคลุมกับประเภทกิจการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น กิจการท่าเทียบเรือสินค้า กิจการล้างสารเคมี โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ จึงเห็นควรประกาศเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มเติมด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 กระทรวงสาธารณสุขสามารถออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และมาตรการในการควบคุม หรือกำกับดูแลการประกอบกิจการ รวมถึงกำหนดมาตรฐานสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน และวิธีดำเนินการเพื่อตรวจสอบควบคุม หรือกำกับดูแล หรือแก้ไขสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน จึงเห็นควรกำหนดให้มีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 เพื่อหามาตรการป้องกันและควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้ท้องถิ่นใช้เป็นเงื่อนไขของการประกอบการอนุญาตกิจการในพื้นที่ต่อไป

เนื่องจากสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม และกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ ข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพและการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากกิจการตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ดังนั้น เห็นควรให้กรมอนามัยเร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังนี้ คือ

1.พิจารณาจัดทำฐานข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงจากมลพิษสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง พื้นที่เทศบาลแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดปราจีนบุรี พื้นที่หน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี

2.พิจารณาจัดทำตัวชี้วัดสุขภาพ ตัวชี้วัดด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ความหมายของเหตุรำคาญ รวมถึงขอบเขต วิธีการจัดการเหตุรำคาญ ให้มีความชัดเจน สามารถปฏิบัติตามเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสุขภาพและเกณฑ์ของเหตุรำคาญควรต้องเร่งพัฒนา เนื่องจากมาตรฐานสิ่งแวดล้อมไม่สามารถใช้กับผลกระทบทางสุขภาพได้ทั้งหมด

เช่น กรณีปัญหาฝุ่นละอองจากการขนส่งกะลาปาล์ม ของท่าเรือในพื้นที่บ้านอ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี เมื่อทำการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง พบว่า ไม่เกินค่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อม แต่ชาวบ้านยังคงได้รับเหตุเดือดร้อนรำคาญจากปัญหาฝุ่นละอองฟุ้งกระจายติดเสื้อผ้า ปนเปื้อนแหล่งน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน

3.ควรจัดทำคู่มือปฏิบัติงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ.2535 สำหรับท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

4.สนับสนุนองค์ความรู้ การเป็นที่ปรึกษา และเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการ และการใช้กฎหมายสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการติดตามการใช้กฏหมายสาธารณสุขของท้องถิ่นให้มากขึ้น

และ 5.จัดตั้ง และ/หรือพัฒนาหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนากฎหมาย และรองรับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ให้มีความชัดเจน และครอบคลุมบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น