xs
xsm
sm
md
lg

มุมมองน้ำหนักการลงทุนในเอเชียแปซิฟิก ของผู้จัดการการลงทุนระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        ผู้จัดการกองทุนจีนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นสูงสุดรอบ 27 เดือน  ผลสำรวจล่าสุดของรอยเตอร์พบว่า ผู้จัดการกองทุนจีนได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นในเดือนนี้สู่ระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือนจากความเห็นในแง่บวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและแนวโน้มปริมาณเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง
        ผลสำรวจความเห็นผู้จัดการกองทุนในจีน 8 รายในสัปดาห์นี้พบว่า น้ำหนักการลงทุนในหุ้นโดยเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 85.8% จากระดับ  81.9% ในเดือนก่อน
        พวกเขาได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนพันธบัตรลงสู่ 4% จาก 5.8% ในเดือนที่แล้ว และลดน้ำหนักการถือเงินสดสู่ระดับ 10.2% จาก 12.4% ในเดือนที่แล้ว
        "ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่ว่าผู้นำใหม่จะนำนโยบายใดออกมา" ผู้จัดการกองทุนรายหนึ่งกล่าว "นโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มขึ้นอีก"
        คาดว่าจีนจะประกาศนโยบายใหม่หลังการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือน มี.ค.นี้
        ดัชนี CSI300 ของหุ้นชั้นนำในตลาดเซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้น ทะยานขึ้นราว 25%แล้วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
        เศรษฐกิจจีนแสดงสัญญาณแข็งแกร่ง ขณะที่จีดีพีขยายตัว 7.9% ในไตรมาส 4โดยยุติภาวะชะลอตัว 7 ไตรมาสติดต่อกัน และผลกำไรของบริษัทอุตสาหกรรมของจีนพุ่งขึ้นในเดือนธ.ค.
        ความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ว่าเงินทุนต่างประเทศจะยังคงไหลเข้ามาในตลาดหุ้นจีน
        จีนได้ขยายโครงการที่อิงตามโควต้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างประเทศซื้อหุ้นและพันธบัตรจีน และนายกัวะ ชูฉิง ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) กล่าวในเดือนนี้ว่า โครงการนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (QFII) สามารถเพิ่มขึ้นได้ 10 เท่า ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาด
        ผู้จัดการกองทุนได้ลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินลงสู่ระดับ 18.8%จาก 20.1% ในเดือนที่แล้วจากมุมมองที่ว่า หุ้นกลุ่มดังกล่าวไม่ได้มีราคาถูกอีกต่อไปหลังจากที่ทะยานขึ้นเกือบ 40% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
        ผู้จัดการกองทุนยังลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มเครื่องจักรลงสู่ระดับ 12.1%จาก 12.4% และคงน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มรถยนต์ไว้ที่ระดับ 9%
        ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นเอเชียสูงสุดรอบ 9 เดือน    รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ระบุว่า ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ให้สูงขึ้น พร้อมกับลดสัดส่วนการถือเงินสดลง
เนื่องจากคาดว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆจะช่วยหนุนราคาสินทรัพย์ในตลาดโลก
        รอยเตอร์จัดทำผลสำรวจนี้จากการสอบถามผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่น 10 รายระหว่างวันที่ 17-23 ม.ค. โดยผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนญี่ปุ่นไม่ได้ต้องการซื้อหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากนัก ถึงแม้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงินใหม่จำนวนมาก
        ผู้จัดการกองทุนรายหนึ่งกล่าวว่า "หลังจากสหรัฐและยุโรปผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีที่แล้ว ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ก็ดำเนินมาตรการผ่อนคลายอย่างแข็งกร้าวด้วยเช่นกัน และสิ่งนี้น่าจะช่วยจำกัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆในตลาด ในขณะที่สภาพคล่องที่ล้นตลาดก็น่าจะช่วยหนุนราคาหุ้นขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป"
        ผลสำรวจระบุว่า สัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นสู่ 41.1 % ในเดือนม.ค.จาก 40.7 % ในเดือนธ.ค. ส่วนสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นสู่ 52.2 %ในเดือนม.ค. จาก 52.0 % ในเดือนธ.ค. ขณะที่สัดส่วนการถือครองเงินสดลดลงสู่ 4.0 % ในเดือนม.ค. จาก 4.6 % ในเดือนธ.ค.
        อย่างไรก็ดี สัดส่วนการลงทุนในหุ้นขณะนี้อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปีที่แล้วที่ 42.6 % เนื่องจากผู้จัดการกองทุนคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตในอัตราปานกลาง
        ผู้จัดการกองทุนรายหนึ่งกล่าวว่า "ขณะนี้มีเพียงแค่สหรัฐและจีนเท่านั้นที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวขึ้นด้วยแรงหนุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรอย่างแข็งแกร่ง แต่มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในจีน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะพึ่งพาจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกโดยรวมเหมือนกับในช่วงหลังเกิดวิกฤติเลห์แมน"
        ผู้จัดการกองทุนกล่าวเสริมว่า "เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงต่อไปในปีนี้ แต่เราไม่สามารถมองข้ามผลกระทบที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐได้รับจากการคุมเข้มทางการคลัง"
        ราคาหุ้นทั่วโลกพุ่งขึ้นในเดือนม.ค. โดยดัชนี S&P 500 ของสหรัฐทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ส่วนดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้พุ่งขึ้นมาแล้ว 20 % จากจุดต่ำสุดรอบ 4 ปีที่ทำไว้ในเดือนธ.ค.
        ภายในพอร์ทลงทุนหุ้นนั้น ผู้จัดการกองทุนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเอเชียขึ้นสู่ 12.5 % ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน โดยปรับขึ้นจาก 11.6 % ในเดือน ธ.ค. อย่างไรก็ดี ผู้จัดการกองทุนใช้ความระมัดระวังต่อการลงทุนในหุ้นสหรัฐ โดยลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสหรัฐลงสู่ 31.6 % จาก 33.2 %
        นายเคนอิชิ คุโบะ ผู้จัดการกองทุนของบริษัทโตคิโอะ มารีน แอสเซท  แมเนจเมนท์ กล่าวว่า "ผมกังวลต่อดัชนีความประหลาดใจทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่จัดทำโดยซิตี้กรุ๊ป เพราะดัชนีนี้ร่วงลงนับตั้งแต่ต้นปีนี้ผมคาดว่าสิ่งนี้อาจมีสาเหตุมาจากการลดลงของงบลงทุนด้านทุนในขณะที่มีความกังวลเรื่อง fiscal cliffและมีการปรับการผลิตโทรศัพท์ไอโฟน อย่างไรก็ดี ถ้าหากปัจจัยนี้ยังคงดำเนินต่อไป ตลาดก็อาจกังวลกับเศรษฐกิจสหรัฐมากยิ่งขึ้น"
        ดัชนีความประหลาดใจทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่จัดทำโดยซิตี้กรุ๊ป (CESI) คือดัชนีที่ใช้วัดว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการรายงานออกมาอยู่ในระดับที่ดีหรือแย่กว่าที่คาด โดยดัชนีที่มีค่าเป็นบวกบ่งชี้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ดีเกินคาด
        ภาวะ fiscal cliff คือภาวะที่มาตรการปรับขึ้นภาษีและปรับลดงบรายจ่ายวงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหรัฐอาจจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2013
        ผลสำรวจของรอยเตอร์แสดงให้เห็นว่า ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นไม่ได้มีความประทับใจมากนักต่อความพยายามของนายอาเบะในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการเงิน
        ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นขึ้นสู่ระดับเพียง33.4 % ในเดือนม.ค. จาก 32.9 % ในเดือนธ.ค. โดยคาดว่าหุ้นญี่ปุ่นอาจปรับขึ้นได้เพียงในวงจำกัด หลังจากทะยานขึ้นอย่างมากในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา
        ดัชนีนิกเกอิพุ่งขึ้นมาแล้ว 25 % นับตั้งแต่กลางเดือนพ.ย. โดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า นายอาเบะจะบังคับให้บีโอเจผ่อนคลายนโยบายการเงินในเชิงรุก
        นายยุอิชิ โคดามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทเมอิจิ ยาสุดะ ไลฟ์ กล่าวว่า "ถึงแม้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าบีโอเจจะผ่อนคลายนโยบายต่อไป, จากการฟื้นตัวของยอดส่งออก และจากความหวังที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากมีการออกงบประมาณเสริม ขณะที่หุ้นญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีราคาถูกเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะปรับตัวขึ้นได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น"
        ภายในพอร์ทลงทุนตราสารหนี้นั้น ผู้จัดการกองทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐและแคนาดาขึ้นสู่ 27.4 % ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2011 โดยปรับขึ้นจาก 25.5 % ในเดือนธ.ค. นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนยังปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ยูโรโซนลงสู่ 18.5 % ในเดือนม.ค. จาก 20.8 % ในเดือนธ.ค.
(ข้อมูลจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak.
กำลังโหลดความคิดเห็น