xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมเร่งแก้ กม.เพิ่มหุ้นต่างชาติ ดันตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บพ.เร่งแก้ข้อกำหนดเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติลงทุนตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานโคราช คาดยกร่างเสร็จประกาศใช้ในปี 56 รวมถึงแก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนต่างชาติตั้งสายการบินในไทย, ลงทุนบริการในลานจอด เพิ่มการแข่งขันลดการผูกขาด “วรเดช” เผย บพ.เตรียมจ้างที่ปรึกษายกร่าง พ.ร.บ.เดินอากาศใหม่ทั้งฉบับแต่บางมาตราต้องแก้ก่อนเพื่อทันกับการเปิด AEC และให้ไทยเป็นฮับการบิน

นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บพ.อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงกฎเกณฑ์ ระเบียบของ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ลงทุนผลิตอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน โดยยกร่าง พ.ร.บ.ยกเว้นคุณสมบัติที่กำหนดให้เป็นของบุคคลสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51% ต่างชาติ 49% เป็นต่างชาติไม่เกิน 70% เพื่อส่งเสริมการลงทุนในการผลิตอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศ และเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีตามความตกลงระหว่างประเทศ (อาเซียน) และให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค 

ทั้งนี้ สนามบินนครราชสีมา (โคราช) ซึ่งมีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมศูนย์ซ่อมอากาศยาน และมีต่างชาติหลายรายสนใจลงทุน เช่น สิงคโปร์ และสแกนดิเนเวีย แต่ถูกจำกัดเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทย ในขณะที่การลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานจะต้องมาพร้อมกับเทคโนโลยี ดังนั้น การขอยกเว้นคุณสมบัติใน 3 กรณี คือ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ, มีเหตุอันควรในการส่งเสริมการประกอบกิจการ, ต้องปฏิบัติตามความตกลงอาเซียน โดยร่าง พ.ร.บ.อยู่ระหว่างเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะเสนอกฤษฎีกาคาดว่าจะประกาศได้ในปี 2556 

นอกจากนี้ ยังจะมีการแก้ไขประกาศผู้ให้บริการในลานจอดอากาศยานจากที่กำหนดให้ต้องมีผู้ถือหุ้นคนไทยไม่ต่ำกว่า 51% ต่างชาติ 49% โดยเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติได้มากกว่า 49% ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการในลานจอดมีหลายรายมากขึ้น ลดการผูกขาดและแก้ปัญหาเมื่อมีพนักงานสไตรก์ โดยปัจจุบันงานบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground  Equipment) ส่วนใหญ่สายการบินจะทำเอง เช่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิให้สัมปทาน 2 ราย และเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติมากกว่า 49% สำหรับการจัดตั้งสายการบินของไทย โดยกำหนดที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เรื่องความปลอดภัยการบินของไทยอย่างครบถ้วน

นายวรเดชกล่าวว่า การแก้สัดส่วนผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการก่อนเพื่อให้ทันการเปิด AEC  ส่วนการปรับปรุง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 นั้น บพ.จะจ้างที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาเพื่อปรับปรุงและยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และให้ข้อกฎหมายเป็นประกาศกระทรวงหรือกฎกระทรวงเพื่อทำให้การปรับปรุงทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิมที่เป็น พ.ร.บ.ที่ต้องเสนอสภาพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น