“คมนาคม” วางแผนโครงข่ายระบบฟีดเดอร์ เล็งใช้รถบีอาร์ที โมโนเรล และบัสเลน ป้อนผู้โดยสารให้รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และสีเขียว (หมอชิต-คูคต) มอบ สนข.ศึกษาใน 9 เดือน
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการศึกษาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาออกแบบระบบขนส่งที่เหมาะสมในการเชื่อมต่อเข้ากับรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน โดยเบื้องต้นมี 3 รูปแบบ คือ รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที, รถไฟฟ้ามวลเบา (โมโนเรล) และจัดทำเป็นช่องทางพิเศษเฉพาะรถโดยสารประจำทาง(บัสเลน) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า 2 สายมากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้รถไฟฟ้ามีผู้โดยสารมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัญหาคือถนนที่เป็นเส้นทางเกี่ยวข้องมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดอาจต้องก่อสร้างเป็นทางยกระดับ โดยต้องศึกษาปริมาณผู้โดยสารเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย เช่น รถบีอาร์ทีควรมีไม่น้อยกว่า 5,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ส่วนโมโนเรลไม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง เป็นต้น ส่วนการจัดการเดินทางนั้นตามหลักท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการ แต่ในเรื่องฟีดเดอร์ของรถไฟฟ้านั้นกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยจะบูรณาการกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่เช่นกรมทางหลวง (ทล.) รวมถึงกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะหน่วยกำกับดูแลรถสาธารณะ
สำหรับการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีความเหมาะสมในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน 7 เส้นทาง คือ 1. สถานีธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต -หออัครศิลปิน เป็นแนวเส้นทางตามแนวทางหลวงหมายเลข 3214 เส้นทางที่ 2 ถนนคลองหลวง-ถ.รังสิต-นครนายก เป็นแนวเส้นทางตามแนวถนนเลียบคลองสองและถนนเลียบคลองสาม ช่วงระหว่างทางหลวงหมายเลข 3214 เส้นทางที่ 3 สถานีรังสิต-ปทุมธานี เป็นแนวเส้นทางตามแนวทางหลวงหมายเลข 346 เส้นทางที่ 4 สถานีรังสิต-ธัญบุรี เป็นแนวเส้นทางตามแนวทางหลวงหมายเลข 346 เส้นทางที่ 5 ถ.ลำลูกกา-ถ.รังสิต นครนายก เป็นแนวเส้นทางตามแนวทางหลวงชนบทหมายเลข ปท.3005 เส้นทางที่ 6 สถานี กม.25-ถ.ลำลูกกา เป็นแนวเส้นทางตามแนวทางหลวงหมายเลข 3312 และเส้นทางที่ 7 สถานีคูคต-วงแหวนรอบนอก เป็นแนวเส้นทางตามแนวทางหลวงหมายเลข 3312