เข้าศักราชใหม่ไม่กี่วัน “สุขุมพันธุ์ บริพัตร” พ่อเมืองกรุงคนปัจจุบันก็จะครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ในวันที่ 10 ม.ค.2556 ทำเอาสนามเลือกตั้งท้องถิ่นอย่าง กทม.กลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะบรรดาว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต่างพาเหรดเปิดตัวเริ่มตั้งแต่ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เจ้าของฉายาวีรบุรุษนาแก ประกาศส่งตัวเองในนามสังกัดกลุ่มพลังกรุงเทพ ชูสโลแกน เกิด เรียน โต ทำงาน อยู่ รู้ปัญหา กรุงเทพฯ หวังเรียกคะแนนเสียงจากคน กทม.
ถัดมาเป็นดีเจชื่อดังในวงการเพลงอิเล็กทรอนิกส์ ผู้บริหารธุรกิจดีเอชเอ สยามวาลา นาม “สุหฤท สยามวาลา” ก็ประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวขออาสารับใช้ประชาชน ชูความแปลก สร้างความเซอร์ไพรส์ให้เป็นกรุงเทพฯสุดฤทธิ์ร่วมกับสุหฤท และรายล่าสุดที่กระโจนสู่สนามเลือกตั้ง คือ “โฆสิต สุวินิจจิต” อดีตประธานสถานีข่าวสปริงนิวส์ ผู้มาพร้อมกับนโยบายกรุงเทพ 24 ชั่วโมง จะสมัครในนามอิสระ
แต่ที่เห็นยักแย่ยักยันคงจะไม่พ้นจาก 2 ค่ายหลัก พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ อย่างพรรคเพื่อไทยที่ตอนนี้ยังไม่ฟันธงให้ใครสวมเสื้อพรรคลงสมัครแม้ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนผ่านเฟซบุ๊ก “ไม่ขอลง” ร่วมศึกเลือกผู้ว่าฯ กทม.คงเหลือตัวเลือกเพียงคนเดียวอย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส.แต่ก็ดูจะยังอ่อนในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจะหาตัวช่วยมาผลักมาดันให้ถึงฝั่งฝัน
ทั้งนี้ จากการให้ลิ่วล้อไปหยั่งเชิง ซาวเสียงคนกรุงเทพฯ ต้องการผู้ว่าฯ กทม.แบบไหน ปรากฏว่า “ไม่ต้องการโล้โก้เสื้อแดง” พล.ต.อ.พงศพัศ นั้น เป็นโล้โก้แดงชัดเจน จึงผุดไอเดียจะให้ลงสมัครในนามอิสระ
ไม่ว่าจะสมัครในนามพรรคเพื่อไทย หรืออิสระ คงไม่ต่างกันหรอก คนกรุงเทพฯ เขากินข้าว เขาท่องเน็ต ตรวจสอบผลงานที่ผ่านมาว่า มีอะไรโดดเด่นบ้าง คำตอบ หาไม่เจอ เห็นแต่งานอีเว้นท์ สร้างภาพให้ชุดเครื่องแบบนั้นสง่างาม น่ายกย่องนับถือ ถามต่อว่า เขาเหมาะจะมานั่งเก้าอี้ พ่อเมือง กทม.แล้วหรือ
เรื่องนี้ พรรคเพื่อไทย รู้ดี แต่ไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่านี้ และมีแนวโน้มให้ลงนามอิสระ เพราะประเมินแล้วว่า ส่งในนามพรรคเพื่อไทย อาจจะทำให้เป็นรองคู่แข่ง เนื่องจากคนกรุงเทพฯ บางส่วนโดยเฉพาะชนชั้นกลางไม่ชอบพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ ถ้าหากผลการเลือกตั้งออกมาแพ้ พรรคเพื่อไทยก็เสมอตัว จะรู้สึกเสียหน้าน้อยกว่าสมัครในนามพรรค
คราวนี้มาฟากพรรคประชาธิปัตย์เจ้าของเก้าอี้เดิม ต้องสู้หัวชนฝา ศึกนี้แพ้ไม่ได้ “สุขุมพันธุ์” ออกตัวแรงขอลงป้องกันเก้าอี้อีกสมัยถึงกับประกาศนโยบายแก้ปัญหาจราจร โดยจะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพราะต้องยอมรับว่า ปัญหาจราจรใน กทม.รุนแรงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์รวมกันถึง 7 ล้านคัน จึงขอนำเสนอมาตรการจูงใจให้ประชาชนทิ้งรถไว้ที่บ้าน โดยจะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายจากสถานีตากสิน-บางหว้าที่จะแล้วเสร็จในปี 2556 และส่วนต่อขยายจากอ่อนนุช-แบริ่ง เดิมเก็บ 15 บาท ให้เหลือ 10 บาททันที และจะยกเลิกค่าโดยสารภายในระยะเวลา 4 ปี ที่ดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 สำหรับรถขนส่งมวลชนบีอาร์ที ราคา 10 บาทตลอดสาย จะลดลงเหลือ 5 บาท ฯลฯ ที่เชื่อว่านโยบายนี้โดนใจคนกรุงจะสามารถชนะใจคนกรุงเทพฯ ได้ ที่ประชุมพรรคมีมติ ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ชิงเก้าอี้ ผู้ว่าฯ กทม.เป็นสมัยที่ 2
แน่นอนเมื่อได้รายชื่อผู้สมัครชัดเจน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการหารือร่วมกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรค ต้องมาระดมสมอง วางแผนการหาเสียง รวมถึงการชูนโยบายโดดเด่น ใดนใจคนกรุงเทพฯ จะได้ตัดสินใจกากบาท เทคะแนนเสียงให้
เอาเป็นว่า ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคเพื่อไทย ต้องออกกำลังแข่งขันกันชนิดหืดขึ้นคอทีเดียว เพราะเวลานี้ทั้ง 2 พรรค มีธงในใจ “แพ้ไม่ได้”
เวลานี้ประชาธิปัตย์หงายไพ่ ผู้ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.แล้ว เหลือแต่พรรคเพื่อไทย จะตัดสินใจส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ หรือใคร ลงสู่สนามแข่งขันครั้งนี้
… คงต้องลุ้นกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ว่าพรรคไหน มือใครจะยาวสามารถคว้าเก้าอี้ “พ่อเมือง กทม.” ไปครอง ตรงนี้ล่ะที่จะวัดใจคนกรุงว่าจะเลือกใคร!? เพราะคนกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มพลังเงียบ ไม่ค่อยแสดงท่าที จึงเดายาก ซึ่งต่างจากจังหวัดทั่วๆ ไป ที่สามารถประเมิน วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ค่อนข้างแม่นยำ