“คมนาคม” สั่งทุกหน่วยงานจัดพื้นที่ตามสถานีขนส่ง และสนามบิน เพื่อตั้งร้านโอทอปตามนโยบายรัฐบาล ตั้งเป้าเปิดใน 6 เดือน เล็งนำร่องที่สนามบินเชียงใหม่ และดอนเมือง ส่วนสุวรรณภูมิติดสัญญาคิงเพาเวอร์ สถานีรถไฟเชียงใหม่ และสถานีรถไฟฟ้าลาดพร้าว ด้านการบินไทยเร่งเลือกสินค้าที่ระลึกและอาหารท้องถิ่นขายบนเครื่อง มั่นใจประโยชน์ถึงชุมชนและชาวบ้านโดยตรง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมนำสินค้า “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือโอทอป จัดจำหน่าย ณ สถานีที่ให้บริการผู้โดยสารของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมและขนาดของพื้นที่ รวมถึงจำนวนและกลุ่มผู้โดยสารเป้าหมายที่ผ่านเข้าออกสถานีในแต่ละวัน เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งรับผิดชอบการออกแบบร้านค้าให้มีเอกลักษณ์เป็นรูปแบบเดียวกัน โดยภายใน 1 เดือนจะเลือกโครงการต้นแบบได้และเริ่มการจัดจำหน่ายภายใน 6 เดือน
ทั้งนี้ ในส่วนของสนามบินนั้นจะเริ่มที่สนามบินเชียงใหม่ เพราะมีพื้นที่ว่างก่อนเข้าสนามบินประมาณ 200 ตารางเมตร สามารถจัดเป็นร้านโอทอปขนาดใหญ่เต็มรูปแบบ ส่วนภายในอาคารผู้โดยสารจะวางเป็นตู้โชว์เพื่อแนะนำสินค้า, สนามบินดอนเมืองใช้พื้นที่ฝั่งผู้โดยสารภายในประเทศ ที่มีประมาณ 218 ตารางเมตร ส่วนสนามบินสุวรรณภูมิยังมีข้อจำกัดเพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สัมปทานของบริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งอาจจะเป็นการตั้งตู้โชว์สินค้าและให้สั่งซื้อทางออนไลน์แทน โดยหลักคือจะต้องไม่ตั้งในจุดที่กีดขวางทางเดินของผู้โดยสาร
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่รถไฟฟ้าใต้ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่สถานีลาดพร้าว, การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเริ่มที่สถานีเชียงใหม่ และหัวลำโพง ,พื้นที่ใต้ทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บริเวณเพลินจิต เนื่องจากมีชาวต่างชาติมาก ซึ่งจะต้องเจรจาการใช้พื้นที่ดังกล่าวกับกระทรวงสาธารณสุข ที่ก่อนหน้านี้ กทพ.ได้มอบให้ใช้ประโยชน์, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริเวณสวนจตุจักรเชื่อมต่อกับสถานขนส่งหมอชิตแห่งใหม่, กรมการบินพลเรือน (บพ.) ที่สนามบินกระบี่ และสนามบินภูมิภาคอีก 7 แห่งจะเป็นการปรับปรุงร้านค้าโอทอปเดิมที่มีอยู่แล้วให้เป็นรูปแบบเดียวกัน
“นโยบายรัฐบาลต้องการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าโอทอป โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ร้านค้า สินค้า และผู้ดำเนินการร้านค้า ซึ่งกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม ขณะที่ TCDC จะออกแบบร้านค้าซึ่งจะมีหลายรูปแบบ เช่น พื้นที่มากจะเป็นร้านค้าขนาดใหญ่ พื้นที่เล็กๆ จะเป็นร้ายค้าย่อยๆ หรือเป็นรถเข็น ตู้โชว์สินค้า ซึ่งแต่ละหน่วยงานต้องไปดูพื้นที่ของตัวเองว่ามีเท่าไหร่ อยู่จุดไหน ส่วน TCDC นอกจากออกแบบแล้วต้องคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานและมีแพกเกจที่ดี และหลังเปิดโครงการจะต้องประเมินยอดขายด้วยว่าเป็นอย่างไร นายชัชชาติกล่าว
โดยผู้ดำเนินการร้านค้าเบื้องต้นจะให้เป็นภาครัฐเข้าไปดำเนินการมากกว่าเอกชน เพื่อไม่ให้มีปัญหา เนื่องจากหลายพื้นที่มีสัญญากับเอกชนอยู่ก่อน และไม่ควรผูกขาดผู้ขายและประเภทสินค้า เพื่อให้มีสินค้าที่มาจำหน่ายมีความหลากหลาย และหมุนเวียนจากหลายแหล่งผลิต และให้เป็นศูนย์บ่มเพาะสินค้าโอทอปที่เป็นผลผลิตจากชาวบ้านโดยตรง มั่นใจว่าผลประโยชน์จะเกิดกับชุมชนและประชาชนอย่างแน่นอน
ด้าน พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในส่วนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้นกำลังพิจารณารายละเอียดสินค้าโดยคณะกรรมการจัดสรรโอทอปเพื่อนำสินค้าขึ้นจำหน่ายบนเครื่องบิน โดยจะมีทั้งที่เป็นของที่ระลึกและเป็นอาหารท้องถิ่นของแต่ละภาคของไทย