xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.และภาคี รณรงค์ ช่วงปีใหม่งดเหล้าขณะเดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขสมก.ร่วม 6 องค์กรภาครัฐและเอกชน รณรงค์รับมือปีใหม่ โดยสารปลอดภัยไม่ดื่มบนรถ เตือนดื่มบนรถขณะเดินทางผิดกฎหมาย ด้าน “เครือข่ายงดเหล้า” เผย ประชาชน 93.3% เห็นด้วยกับกฎหมายห้ามดื่มบนรถ และ52.4% ยังพบเห็นการดื่ม-ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลในหมอชิต หัวลำโพง สายใต้

วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่สถานีรถโดยสาร บางเขน เมื่อเวลา 09.00 น.กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศแห่งประเทศไทย (ITF) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการรณรงค์ “โนแอลกอฮอล์ ขสมก.ปลอดภัย” โดยนายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นประธานมอบสื่อรณรงค์แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมเดินรณรงค์แจกสื่อ ติดสติกเกอร์ “ห้ามดื่มสุราบนรถ” และติดป้าย “สถานีรถโดยสารห้ามขายห้ามดื่มสุรา” นอกจากนี้ ยังมีการแสดงจำลองสถานการณ์ ดื่มแล้วสร้างปัญหาบนรถโดยสาร ตอน “บนรถนะพี่ไม่ใช่ที่กินเหล้า” จากเครือข่ายละครรณรงค์ DDD

นายโอภาส กล่าวว่า ขสมก.ร่วมกับองค์กรต่างๆ จัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อสร้างการรับรู้ และกระตุ้นเตือนให้พนักงาน ขสมก.พนักงานรถร่วม และประชาชนผู้ใช้บริการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถขณะอยู่บนทาง และการห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัฐวิสาหกิจ โดยทั้งสองมาตรการนี้มีขึ้นเพื่อลดปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น ผู้ที่โดยสารรถ ขสมก.รวมถึงรถร่วมบริการ ต้องพึงระวัง เพราะหากฝ่าฝืนจะผิดกฎหมายทันที และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายโอภาส กล่าวว่า ขสมก.มีรถโดยสารที่อยู่ในความดูแล รับผิดชอบ กว่า 16,209 คัน ประกอบไปด้วย รถ ขสมก.รถร่วมบริการ รถตู้โดยสาร รถเล็กในซอย รวมไปถึงมินิบัส และรถตู้ CNG ทั้งหมดต้องไม่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถโดยเด็ดขาด ซึ่งที่ผ่านมา ขสมก. ได้พยายามควบคุมในจุดนี้ แต่เมื่อมีกฎหมายมาเป็นตัวช่วยก็ยิ่งทำให้การทำงานง่ายขึ้น โดยจะมีการติดสติกเกอร์แจ้งกับผู้โดยสาร บนรถทุกคัน สำหรับสถานีรถโดยสารของ ขสมก.ก็ต้องปลอดจากการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจาก ขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจะมีการติดป้ายเตือนผู้โดยสาร ประชาชนทั่วไปให้รับทราบ และจะให้ความรู้กับพนักงานขับรถ ตลอดจนพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกคนให้รู้และปฏิบัติตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ โดยเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกมิติ ขสมก.ขอเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาด้วยการทำให้สถานีรถโดยสาร และรถโดยสารของ ขสมก.ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายสนาน บุญงอก ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก.กล่าวว่า ในส่วนของสหภาพแรงงานฯ ได้มีการตรวจสอบพนักงานเก็บตั๋ว และพนักงานขับรถสาธารณะในกรุงเทพฯทุกครั้ง หากพบว่ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เราจะตักเตือน หรือถึงขั้นไล่ออก เพราะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายกับผู้โดยสาร ล่าสุด เมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา รถ ขสมก.เกิดอุบัติเหตุบนทางด่วน จากการสอบสวนพบว่าพนักงานดื่มสุราจึงได้มีมาตรการลงโทษไปแล้ว นอกจากนี้ สิ่งที่ยังน่าห่วง คือ ผู้โดยสารเมาขึ้นมาบนรถ หรือนำสุราขึ้นมาดื่มบนรถ ซึ่งผิดกฎหมายแน่นอน รวมถึงพนักงานดื่มสุราก่อนมาทำงาน มีอาการเมาค้าง แม้ก่อนปฏิบัติหน้าที่จะมีมาตรการทดสอบ เช่น ดูด้วยสายตา ดมกลิ่น และใช้เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ แต่ก็เป็นการสุ่มเฉพาะคนเท่านั้น

“กฎหมายห้ามดื่มบนรถถือว่ามีประโยชน์กับผู้ขับขี่และผู้โดยสารอย่างมาก เพราะจะช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาทได้ โดยเฉพาะฉิ่งฉาบทัวร์ ที่มีการดื่มบนรถ และเปิดเพลงเสียงดังรบกวนสมาธิคนขับ ซึ่งเป็นอันตราย ขณะเดียวกันต้องเร่งทำความเข้าใจเพราะเป็นกฎหมายใหม่ คนยังรับรู้น้อย แม้แต่พนักงานขับรถใน ขสมก.ยังรู้ไม่ถึง 50% ดังนั้น ต้องอาศัยการรณรงค์ของทุกฝ่าย ซึ่งเรายินดีให้ความร่วมมือเต็มที่” นายสนาน กล่าว

ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนปีละกว่า 10,560 ราย มากกว่าการเสียชีวิตจากยาเสพติดทุกชนิดรวมกัน ทั้งนี้เครือข่ายได้เฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาโดยตลอด รวมถึงการผลักดันให้เกิดกฎหมายห้ามดื่มบนรถ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยลดอุบัติเหตุเจ็บตายบนท้องถนนได้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ จึงอยากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นความสำคัญปฏิบัติตามกฎหมายห้ามดื่มบนรถทุกประเภทที่อยู่บนท้องถนน และเห็นความสำคัญจากปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลกระทบ เป็นสาเหตุหลักจากการดื่มแล้วขับ หรือดื่มในรถทุกชนิดที่นำไปสู่การชวนคนขับดื่มจนเกิดอุบัติเหตุ

ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า หากดูจากข้อมูลที่เครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่ สถานีขนส่งหมอชิต สายใต้ใหม่ และสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อสำรวจความคิดเห็นจาก 600 กลุ่มตัวอย่าง เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 93.3% เห็นด้วยกับกฎหมายห้ามดื่มบนรถ 90.8% ระบุว่า มาตรการนี้จะช่วยให้อุบัติเหตุลดลงได้ เมื่อถามถึงการรับรู้กฎหมายห้ามขายห้ามดื่มในรัฐวิสาหกิจ กลุ่มตัวอย่าง 70.7% ทราบว่า การขายในสถานีขนส่งหมอชิต สายใต้ใหม่ และสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้นผิดกฎหมาย และ 91.5% เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนี้ แต่ขณะเดียวกัน 52.4% ยังพบเห็นการขายและดื่มในพื้นที่ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น