xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ จวก บ.น้ำเมา ช่วยสังคม หวังสร้างภาพ “ขาว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ ชี้ บ.น้ำเมาทำ CSR ในรูปแบบช่วยเหลือสังคมเพื่อสร้างภาพ และอาศัยเป็นเครื่องฟอกให้ดูขาวสะอาดในความรู้สึกของเยาวชนที่แยกการโฆษณา และ CSR ไม่ออก โดยเฉพาะเด็กประถม และมัธยมที่มองในแง่ดี ด้าน นักวิจัย ระบุ บ.น้ำมีเป้าหมายที่เยาวชนจึงเน้นทำกิจกรรม CSR พุ่งเป้าไปยังมหา’ลัย ส่วน นศ.ที่ได้รับผลกระทบจากการเมาแล้วขับ ฝากคนใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คงดแชร์ภาพการดื่มเหล้า เพราะเหมือนเป็นการโฆษณาสินค้า

วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สลค.) จัดเสวนา “การทำ CSR ของบริษัทน้ำเมาสร้างภูมิคุ้มกันหรือมอมเมาเด็กเยาวชน” โดยน.ส.ศรีรัช ลอยสมุทร นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การทำCSR บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการทำเพื่อสร้างภาพ โดยในลักษณะของโจรกลับใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยยอมรับได้ แม้จะรู้ว่าเป็นธุรกิจมอมเมาสังคม ก็ควรได้รับการให้อภัย ซึ่งผลวิจัยสะท้อนว่าการทำ CSR ของธุรกิจเหล่านี้ สามารถฟอกภาพธุรกิจน้ำเมาให้ดูขาวสะอาดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่แยกไม่ออกระหว่างการขายกับการโฆษณาลักษณะCSR จึงทำให้ไม่เข้าใจเบื้องหลังธุรกิจนี้

อย่างไรก็ตามแม้ว่า CSR จะไม่สามารถกระตุ้นยอดขายได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็สามารถสร้างความจงรักภักดีให้เกิดกับแบรนด์สินค้าตนเองได้ ด้วยการฉายให้เห็นภาพช่วยเหลือสังคม ซึ่งจากผลการศึกษาธุรกิจแอลกอฮอล์ที่เข้ามาดำเนินกิจกรรมการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ระหว่างปี 2540-2551 พบว่า มีธุรกิจ CSR รวมทั้งสิ้น 463 กิจกรรม โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ คือ การบริจาคตรง ในกิจกรรมต่าง ๆ คือ ดนตรี กีฬา ศิลปวัฒนธรรม สาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม การบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ในโครงการที่เป็นที่รู้จักแก่สังคม เช่น “แจกผ้าห่ม รวมใจต้านภัยหนาว” “คนไทยไม่ทิ้งกัน” หรือธุรกิจเหล้าในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับ “การส่งเสริมการดื่มแบบรับผิดชอบ” เช่น “รณรงค์เมาไม่ขับ” ถือเป็นการควบคุมกันเองของภาคธุรกิจด้วยวิธีการให้ความรู้กับเยาวชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการสั้น ๆ

“ที่น่าตกใจคือ เด็กในระดับประถมศึกษา มองการทำ CSR ของสินค้าน้ำเมาในแง่บวก ในเชิงของการเข้ามาช่วยเหลือสังคม ขณะที่ระดับมัธยม ตีความแง่บวกเช่นกัน และมองว่าสินค้าสุราที่มาช่วยสังคมเป็นสินค้าที่ดี ส่วนที่ไม่ช่วยก็มองว่าไม่ดี และระดับอุดมศึกษา มองว่า ดีมากกระตุ้นจิตสำนึกของคนไม่ได้มุ่งขายเหล้า ข้อสรุปคือ CSR ของธุรกิจน้ำเมา คือ การช่วยเหลือสังคม”น.ส.ศรีรัช กล่าว

ด้าน น.ส.นงนุช ใจชื่น นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า เหตุที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงพุ่งเป้าทำ CSR ไปที่มหาวิทยาลัย เพราะในมหาวิทยาลัยมีกลุ่มเป้าหมายในอนาคตของของสินค้า ซึ่งคือเยาวชน ดังนั้นจึงมีการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เข้าไปในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การทำ CSR เหล้าจะทำให้เกิดภัยอันตรายต่อผู้ดื่ม ดังนี้ เกิดผลต่อสมองและการเรียน ทำลายมิตรภาพ เพราะถ้าเมาก็อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท และมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ เช่นผู้หญิงมีโอกาสเสียสาวได้สูง เกิดคดีอาชญากรรม รวมถึงจะขยายผลลกระทบไปสู่ชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมาพบคนไทยต้องเสียเงินเพื่อแก้ที่เกิดจากสุราปีละ 1.5 แสนล้าน แทนที่จะนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศส่วนอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวทุกภาคส่วนจะต้องหันมาให้ความสำคับกับเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยสามารถออกประกาศของมหาวิทยาลัยเพื่อบังคับใช้หรือขอความร่วมมือจากคณะต่าง ๆ ปฏิเสธท่าทีของงบริบัทน้ำเมาที่จะเข้ามา รวมถึงอยากให้มีการจัดตั้งภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน และมีการขยับขับเคลื่อนการแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มาตรา32 ที่เปิดโอกาสให้บริษัทเครื่องดื่มแอลกอออล์สามารถโฆษณาในเชิงให้ความรู้ข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคม ซึ่งกับเป็นการเปิดช่องให้บริษัทน้ำเมาสามารถทำCSR ได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ขณะที่ นายพิทวัส คำวัง นักศึกษามหาวิทยาลัยคริสเตียน ที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มแล้วขับ กล่าวว่า ได้รับอุบัติเหตุจากรถยนต์ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เพราะรถที่มาชนเมาแล้วขับ ทำให้ตั้งแต่นั้นมาต้องนั่งรถเข็นมาตลอด มีผลกระทบทั้งด้านการศึกษา มีความลำบากในการติดต่อเข้าเรียนในสถานที่ต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย การเดินทางไม่สะดวกเหมือนกับคนปกติ จะฝากถึงผู้ที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่กินเหล้ามาแล้วถ่ายรูป ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เหมือนไปโฆษณาให้เขา ทำให้คนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ และทำให้ธุรกิจนี้ขยายตัวมากขึ้น และถ้าเราไม่ไปช่วยเผยแพร่ก็จะเป็นการลดนักดื่มหน้าใหม่ในอนาคตด้วย อยากรณรงค์ให้คนที่คิดจะเริ่มดื่มอย่าไปยุ่งกับมันเลยเพราะเกิดผลกระทบมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น