แอร์พอร์ตลิงก์ 20 บาทตลอดสายไม่จูงใจ 3 เดือนแบกขาดทุนเพิ่มอีก 6 ล้านบาท ต้องยกเลิกกลับมาเก็บราคาเดิมตามระยะทาง 15-45 บาทตั้งแต่ 1 ม.ค. 56 พร้อมดิ้นหาโปรโมชันจูงใจใหม่ เชื่อปี 56 ผู้ใช้บริการเพิ่มหลังปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเสร็จ
นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตลิงก์) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ยกเลิกการจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถขบวนธรรมดา (City Line) ช่วงเวลา 11.00-14.00 น. เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยจากการทดลองเป็นเวลา 3 เดือนระหว่างวันที่ 30 กันยายน-31 ธันวาคม 2555 ปรากฏว่ามีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยไม่เกิน 5,500 คนต่อวัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ต้องมีผู้โดยสาร 7,000-8,000 คนต่อวันจึงจะคุ้มทุน โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ได้กลับไปเก็บค่าโดยสารอัตราปกติ 15-45 บาท
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้มีผู้โดยสารน้อยอาจเป็นเพราะช่วงเวลาที่จัดเก็บยังไม่จูงใจพอ ควรปรับไปใช้เวลาช่วงอื่นที่เหมาะสมกว่าหรือไม่ ซึ่งบอร์ดได้มอบหมายให้ศึกษาวิธีการและโปรโมชันใหม่ที่จะช่วยจูงใจให้มีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการจำหน่ายภายในสถานีเพื่อให้สะดวกและดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้บริการได้ ส่วนจะใช้ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายอีกหรือไม่ขึ้นกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม
นายจำรูญกล่าวว่า ขณะนี้แอร์พอร์ตลิงก์อยู่ระหว่างปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งทางเชื่อมระหว่างสถานีมักกะสันกับรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีเพชรบุรี ถนนเข้าออกสถานีต่างๆ และติดตั้งลิฟต์บันไดเลื่อนเพิ่ม โดยจะแล้วเสร็จภายในปี 2556 ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการมากขึ้น และเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดสารได้ จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 4-5 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่จะเร่งแก้ปัญหาความหนาแน่นในช่วงเช้าและเย็น โดยนำรถไฟฟ้าด่วน (Express Line) มาวิ่งเสริมเป็นขบวน City Line โดยจะเป็นการให้บริการในระยะสั้น คือจากสถานีลาดกระบัง-พญาไท และสถานีรามคำแหง-พญาไท เนื่องจากผู้โดยสารที่ใช้บริการในสถานีลาดกระบัง และพญาไทมีอยู่เป็นจำนวนมาก
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า การเก็บค่าโดยสาร 20 บาททำให้แอร์พอร์ตลิงก์ต้องสูญเสียรายได้รวม 3 เดือนประมาณ 6 ล้านบาทหรือประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือน จึงต้องยกเลิกเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารไม่เพิ่มตามเป้า โดยก่อนเก็บ 20 บาทมีผู้โดยสารช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 5,000 คนต่อวัน หลังเก็บ 20 บาทช่วง ต.ค.-ธ.ค.มีผู้โดยสารเฉลี่ยเพียง 5,100-5,200 คนต่อวันเท่านั้น เพิ่มขึ้นไม่ถึง 5% ไม่ถึงเป้าขั้นต่ำที่ 10% ขณะที่หากจะให้ถึงจุดคุ้มทุนจะต้องมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 8,000 คนต่อวัน โดยรายได้ที่สูญไปจะส่งผลต่อผลประกอบการในปี 2556 แน่นอน ส่วนปี 2555 ผลประกอบการรวมยังขาดทุน แต่หากไม่รวมหนี้และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ ร.ฟ.ท.บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) กว่า 10 ล้านบาท