“รมว.แรงงาน” ยันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศมีผลแล้ว ลั่นจับตา “นายจ้าง” เลี่ยงการจ่ายค่าแรง ด้าน “พาณิชย์” คาดการณ์ราคาสินค้าปี 56 ไม่แตกต่างจากปี 55 พร้อมประเมินกรอบอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.8-3.4%
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความพร้อมในการประกาศปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ ซึ่งมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นวันแรก โดยยืนยันว่าแรงงานทั่วประเทศ จะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทต่อวัน ซึ่งถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานเพื่อที่จะก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558
ทั้งนี้ เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างแล้วอยากจะขอให้แรงงานทุกคนมีวินัยในการทำงาน และรู้จักการออมไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมดูว่ามีผู้ประกอบการรายใดไม่ให้ความร่วมมือ หรือหลีกเลี่ยงในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งหากพบก็จะทำหนังสือเตือนไปยังผู้ประกอบการ เพราะเรื่องดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมาย
สำหรับการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศแล้วนั้น คาดว่ามีแรงงานอย่างน้อย 3 ล้านคนได้รับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นการยกระดับรายได้และช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น
ขณะที่ภาคเอกชนมีความพยายามที่จะขอให้รัฐมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบ จึงน่าติดตามท่าทีของคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ถึงการกำหนดมาตรการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าวต่อรัฐบาล
นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวว่า ภาพรวมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคในปี 2556 จะไม่แตกต่างจากปี 2555 มากนัก โดยผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ยังจะไม่ปรับราคาสินค้าในขณะนี้ เพราะราคาวัตถุดิบจากต่างประเทศยังทรงตัว และปริมาณยังไม่ขาดแคลน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะแถลงอัตราเงินเฟ้อปี 2555 และประเมินตัวเลขเงินเฟ้อของปี 2556 ในวันที่ 2 มกราคม 2556 (วันนี้) โดยเบื้องต้นคาดว่าปี 2555 อัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในกรอบที่ 3% และปี 2556 จะอยู่ในกรอบ 2.8-3.4%
นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศราคาแนะนำสุกร และเนื้อสุกร ระหว่างวันที่ 28 ธ.ค. 2555 ถึง 4 ม.ค. 2556 โดยปรับสูงขึ้นจากการประกาศครั้งก่อน ประมาณกิโลกรัมละ 2-4 บาท อาทิ ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มในเขตกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันตกไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 57 บาท
ส่วนราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงไม่เกินกิโลกรัมละ 111 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราคาหมูเนื้อแดงไม่เกิน 106 บาท, ภาคตะวันออก ไม่เกิน 112 บาท, ภาคใต้ ไม่เกิน 107 บาท และภาคเหนือ ไม่เกิน 117 บาท ยกเว้นสุกรชนิดที่มีคุณภาพพิเศษ เช่น เนื้อสุกรอนามัย เนื้อสุกรไร้สาร ที่มีการรับรองจากหน่วยงานราชการ