“ประเสริฐ” ฟื้นถนนปลอดฝุ่น เร่ง 5 ปีต้องเสร็จครบ 5,100 กม. ลั่นหางบเพิ่มอย่างน้อยปีละ 4,000 ลบ.สั่ง ทช.หาเทคโนโลยีใช้ยางพาราสร้างถนน หวังอุ้มราคายางที่ตกต่ำ ด้าน “ทช.” เผยต้องให้เอกชนมาช่วยศึกษา เหตุเทคโนโลยีสูง ใช้จริงต้องเน้นที่ความปลอดภัยเป็นหลัก
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วานนี้ (13 ธ.ค.) ว่า นโยบายหลักคือเร่งรัดโครงการที่ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สนับสนุนภาคการเกษตร การท่องเที่ยว แหล่งอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ของประเทศ เช่น 1. เร่งดำเนินโครงการถนนปลอดฝุ่นที่เหลืออีก 5,100 กิโลเมตรให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี โดยจะผลักดันให้ได้รับงบประมาณอย่างน้อยปีละ 4,000 ล้านบาทเพื่อดำเนินการให้ได้อย่างน้อย 1,000 กิโลเมตรต่อปี หรืออาจต้องหางบภายนอก เช่น จากงบ 2.2 ล้านล้านบาทมาช่วย 2. ปรับปรุงป้ายและสัญลักษณ์จราจรต่างๆ ให้เป็น 2 ภาษาเพื่อรองรับการเปิด AEC และป้ายจราจรอัจฉริยะแสดงข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะเส้นทางหลัก 3. จัดทำโครงการแก้ปัญหาจราจรในเขต กทม. ปริมณฑล และเมืองใหญ่ในภูมิภาคที่การจราจรเริ่มแออัด เช่น ทำทางลัด ทางเชื่อมต่อ หรือทางเลี่ยงเมือง เพื่อแบ่งเบาภาระของถนนสายหลัก ซึ่ง ทช.ต้องประสานกับสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
4. นำยางพารามาใช้ในการก่อสร้างถนนเพื่อช่วยยกระดับราคายางในประเทศ โดยศึกษาเรื่องประสิทธิภาพและความเหมาะสมด้านวิศวกรรมก่อนนำมาใช้จริง 5. เพิ่มมาตรการตรวจสอบน้ำหนักบรรทุก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มักมีรถเลี่ยงถนนสายหลักมาใช้ถนนสายรองเป็นจำนวนมาก 5. จัดทำถนนสีเขียวเทิดพระเกียรติ ซึ่งจะมีการปลูกต้นไม้สองข้างทาง มีระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่เพียงพอ มีศาลาพัก ฯลฯ โดยกำหนดโครงการนำร่องที่เป็นรูปธรรมในปีงบประมาณ 2557 ภาคละ 1 แห่ง เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่องค์กรท้องถิ่น
“ทช.เป็นพี่เลี้ยงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านความรู้ด้านเทคนิค ระเบียบวิธีการต่างๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างถนน เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากท้องถิ่นมีความรู้มากขึ้นจะช่วยให้สามารถดูแลการก่อสร้างถนนของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและแบ่งเบาภาระของ ทช.ได้” นายประเสริฐกล่าว
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองนำยางพารามาผสมกับแอสฟัลต์ ซึ่งเบื้องต้นได้รับงบจากกระทรวงเกษตรฯ 85 ล้านบาทมาทดลองราดผิวถนนที่ จ.นครศรีธรรมราช แต่เมื่อดำเนินการจริงค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็น 130 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาวิเคราะห์คุณภาพเพื่อความรอบคอบด้านความปลอดภัย และต้องให้ภาคเอกชนที่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีมากกว่าภาครัฐเข้ามาช่วย จึงอาจไม่ใช่แนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำได้ทันที
ส่วนการควบคุมน้ำหนักบรรทุกนั้น ปัจจุบันมีด่านชั่งน้ำหนักถาวร 1 แห่งที่ถนนราชพฤกษ์ และจะติดตั้งเพิ่มที่ศาลายาอีก 1 แห่ง โดยอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบรับฟังความเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้จะขอความร่วมมือจากองค์กรท้องถิ่นช่วยให้ข้อมูลเพื่อนำด่านเคลื่อนที่ไปสุ่มตรวจ โดยปัจจุบันจะตั้งด่านเคลื่อนที่ในจุดที่มีความเสี่ยงรถบรรทุกผ่านมากสัปดาห์ละครั้ง
สำหรับถนนที่ถ่ายโอนให้ท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจนั้น มีปัญหาเนื่องจากท้องถิ่นต้องการคืนให้ ทช.ดูแล แต่ไม่สามารถทำได้จึงเกิดการชำรุดต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบการกระจายอำนาจเพื่อให้แนวทางการถ่ายโอนสอดคล้องกับความสามารถของท้องถิ่นและจะมีการจัดตามลักษณะงานให้ชัดเจน โดยกรมทางหลวงดูแลถนนสายหลัก กรมทางหลวงชนบทดูแลถนนสายรอง และท้องถิ่นดูแลสายย่อย เป็นต้น