กรมทางหลวงชนบทเผย ธ.ค.นี้ผู้รับเหมาเตรียมลงพื้นที่ขยายถนนราชพฤกษ์ ระยะที่ 2 (ตอนที่ 1) ระยะทาง 6.260 กม. จาก 6 เป็น 10 ช่องจราจร ช่วยแก้ปัญหาจราจรฝั่งตะวันตก เนื่องจากมีการพัฒนาพื้นที่อย่างรวดเร็วทำให้ปริมาณรถมากเกินขีดความสามารถของถนน ทำให้เกิดการติดขัดหนักในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ทช.ได้ออกแบบรายละเอียดโครงการขยายช่องจราจรถนนราชพฤกษ์เป็น 10 ช่องจราจร รวมระยะทาง 22.510 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 จากคลองมหาสวัสดิ์-ถนนรัตนาธิเบศร์ ระยะทาง 6.260 กิโลเมตร ตอนที่ 2 จากซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 ถึงคลองมหาสวัสดิ์ ระยะทาง 7.500 กิโลเมตร และตอนที่ 3 จากถนนรัตนาธิเบศร์-ทางหลวงหมายเลข 345 ระยะทาง 8.350 กิโลเมตร ซึ่งทช.ได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัท ชัยนันท์ค้าวัตถุก่อสร้าง (2524) จำกัด ดำเนินโครงการในตอนที่ 1 วงเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มงานได้ในเดือนธันวาคม 2555 นี้
ทั้งนี้ ถนนราชพฤกษ์เป็นถนนสายหลักในแนวเหนือ-ใต้ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเชื่อมโยงพื้นที่เขตเมืองกับย่านธุรกิจใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้ทางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ปัจจุบันเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร มีปริมาณจราจรประมาณ 29,000 คัน/วัน ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เนื่องจากการเจริญเติบโตของการใช้ที่ดินในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้สภาพพื้นที่สองข้างทางมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเขตทางของถนนราชพฤกษ์ ทำให้ไม่สามารถรองรับการจราจรที่มีปริมาณหนาแน่นโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ทำให้ต้องก่อสร้างผิวจราจรเพิ่มเติม รวมถึงการแยกรถทางหลักและทางคู่ขนานออกจากกัน
โดยในปี 2555 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในตอนที่ 1 ประกอบด้วย งานก่อสร้างปรับปรุงถนนคู่ขนานระดับดินขนาด 2 ช่องจราจร ต่อทิศทางจาก กม.14+100 ถึง กม. 22+900 พร้อมสะพานคู่ขนานข้ามคลองอ้อมนนท์ ตลอดจนระบบระบายน้ำ ทางเท้า และไฟฟ้าแสงสว่าง เมื่อขยายช่องจราจรบนถนนราชพฤกษ์จาก 6 ช่องจราจรเป็น 10 ช่องจราจรตามรูปแบบตลอดแนวเส้นทางแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของถนนราชพฤกษ์ เนื่องจากจะสามารถรองรับปริมาณจราจรได้มากขึ้นภายในพื้นที่เขตทางเดิมโดยไม่มีการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม และเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ตลอดจนเป็นการเสริมโครงข่ายถนนในแนวเหนือ-ใต้ของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย