xs
xsm
sm
md
lg

ส.กุ้งไทยตั้งเป้าปี 56 ผลิตกุ้ง 5-6 แสนตัน จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาแรงงานเด็ก-FTA ไทย-อียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - สมาคมกุ้งไทยตั้งเป้าปีหน้าผลิตกุ้ง 5-6 แสนตัน ใกล้เคียงปีนี้ที่ผลิตกุ้งลดลงเหลือ 5.4 แสนตัน เหตุเนื่องจากปัญหาโรคระบาดและความต้องการบริโภคกุ้งในสหรัฐฯ และอียูลดลง เชื่อว่าปีหน้าการส่งออกกุ้งไทยยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจอียูและสหรัฐฯ เร่งรัฐแก้ข้อกล่าวหาการใช้แรงงานเด็ก หวั่นไทยถูกจัดสถานะ Tier 3 และเร่งทำเอฟทีเอไทย-อียู

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า ในปีหน้าผลผลิตกุ้งไทยจะอยู่ที่ 5-6 แสนตัน จากปีนี้ที่ไทยมีผลผลิตกุ้ง 5.4 แสนตัน ลดต่ำลงจากปี 2554 ที่ผลิตได้ 6 แสนตัน หรือลดลง 10% เนื่องจากปัญหาโรคระบาดและความต้องการบริโภคกุ้งในสหรัฐฯ และยุโรปก็อ่อนตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเช่นกัน ทำให้ราคากุ้งในปีนี้ไม่ได้ตกลงมากนัก และคาดว่าปีหน้าราคากุ้งจะใกล้เคียงปีนี้ที่ราคาในประเทศเฉลี่ย 140 บาทต่อกุ้ง 70 ตัวต่อกิโลกรัม

ส่วนการส่งออกกุ้งในปีหน้ายังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐฯที่ยังไม่ฟื้นตัว และโรคระบาด คาดว่าไทยจะส่งออกกุ้งใกล้เคียงปีนี้ที่ 3.5 แสนตัน เป็นมูลค่าการส่งออก 1 แสนล้านบาท โดยช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกกุ้งอยู่ที่ 2.85 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 7.91 หมื่นล้านบาท เทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2554 พบว่าปริมาณการส่งออกกุ้งไทยลดลง 12.31% มูลค่าลดลง 12.67% โดยตลาดส่งออกที่ลดลง ได้แก่ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ขณะที่ตลาดเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และจีน มีการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า

นายสมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ทางสมาคมฯ คาดการณ์ว่าไทยยังเป็นผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องไปอีก 3 ปีข้างหน้า แม้ว่าจะมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างเวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย แต่เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีและความรู้ ประสบการณ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยทำให้ยังรักษาตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 1 ต่อไปเอาไว้ได้ โดยระดับการผลิตเฉลี่ยปีละ 5-6 แสนตันเป็นปริมาณที่เหมาะสมทำให้ราคากุ้งไทยมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้รัฐเร่งแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการคือ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ หรือเอดี ที่ยังเป็นอุปสรรคการส่งออกกุ้ง รวมทั้งการเร่งแก้ข้อกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ เนื่องจากไทยติดอยู่ในสถานะ Tier 2 Watch List เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน หากไม่เร่งแก้ไขจะถูกจัดสถานะเป็นTier 3 ซึ่งจะถูกใช้มาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบอื่นๆ ตามมา รวมถึงการเร่งเจรจาเปิดการค้าเสรีไทย-อียูก่อนที่ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษจีเอสพี และถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงมาก ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นคู่แข่งทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ก็เริ่มการเจรจาทำเอฟทีเอกับอียูแล้ว หากประเทศเหล่านี้เจรจาสำเร็จก่อนภาษีส่งออกจะเป็นศูนย์ ทำให้ไทยเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ครม.เพิ่งเห็นชอบกรอบการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไปคือการขอความเห็นชอบจากรัฐสภา คาดว่าจะได้ข้อสรุปต้น ม.ค. 56 หลังจากนั้นจะเป็นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูในช่วง มี.ค.-เม.ย. 56 ซึ่งกว่าจะเสร็จน่าจะใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพีต้นปี 2558

นายสมศักดิ์กล่าวถึงปัญหาโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) ในบ่อเลี้ยงกุ้งยังไม่สามารถชี้ชัดว่าเกิดจากเชื้อโรคใด ทำให้เกษตรกรต้องมีการชะลอลงลูกกุ้งไปก่อน ซึ่งปัจจุบันโรคดังกล่าวพบมากในพื้นที่เลี้ยงกุ้งภาคตะวันออก และสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ปริมาณการเลี้ยงกุ้งในภาคตะวันออกปีนี้ลดลงถึง 30-50% แต่เชื่อมั่นว่าไทยจะก้าวผ่านปัญหานี้ไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น