xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เตือนใช้น้ำประหยัด! ปีนี้เขื่อนเหนือ-อีสานน้ำน้อยเวอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เขื่อนภูมิพล
กฟผ.เผยปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แนะเกษตรกรควรปลูกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและงดปลูกข้าวนาปรัง รวมถึงขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.และผลการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง ปี 2555/56 ที่ผ่านมาร่วมหนึ่งเดือนแล้วว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ณ ปัจจุบัน มีอยู่45,655 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 74% ของความจุ น้อยกว่าปีที่แล้ว 19% หรือ -10,391 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้ 22,611 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำเกือบทุกแห่งมีปริมาณน้ำในอ่างน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว 36% และ 40% ตามลำดับ

ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,768 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 8,118 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำปี 2552 ซึ่งเป็นปีน้ำน้อยจนต้องมีการควบคุมการใช้น้ำอย่างจริงจัง โดย 2 เขื่อนยังเหลือปริมาณน้ำที่จะระบายตลอดฤดูแล้งอีก 5,740 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเสร็จสิ้นการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งแล้วยังเหลือน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณ 2,379 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่อ่างเก็บน้ำในภาคอีสานมีน้ำน้อยจนน่าเป็นห่วง คณะทำงานฯ ได้ประกาศให้หลายพื้นที่งดการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และบางพื้นที่ให้มีการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน ในส่วนของเขื่อนอุบลรัตน์ที่ส่งน้ำให้กับโครงการชลประทานหนองหวาย จังหวัดขอนแก่นนั้น ปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยมาก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้งานได้เหลืออยู่เพียง 445 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำในปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่ภาคอีสานมีพื้นที่ประสบภัยแล้งสูงสุด เขื่อนอุบลรัตน์จึงมีแผนการระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาลำน้ำในอัตราวันละ0.8 ล้าน ลบ.ม. โดยเกษตรจำเป็นต้องงดเว้นการปลูกข้าวนาปรัง

“แม้ว่าสถานการณ์น้ำในปีนี้มีน้อย แต่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราเคยประสบปัญหาเช่นนี้ และสามารถบริหารจัดการน้ำให้ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรและทุกคนใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่ขยายพื้นที่เพาะปลูกเกินกว่าแผนที่คณะทำงานได้กำหนดไว้อย่างเหมาะสม แม้ว่าปัจจุบันยังมีฝนตกเป็นระยะๆ แต่หลังจากหนึ่งหรือสองเดือนไปแล้ว ปริมาณฝนจะลดลง หากเกษตรกรมีการเพาะปลูกเกินแผน ปริมาณน้ำอาจมีไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดความเสียหายตามมา” นายกิตติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น