xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ลั่น 2 เขื่อนใหญ่รับน้ำได้อีกเพียบ ห่วงภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กฟผ.ประเมินสถานการณ์น้ำมีความเสี่ยงเกิดมหาอุทกภัยน้อยมาก 2 เขื่อนใหญ่ กฟผ.ยังรับน้ำได้อีกเพียบ แต่กังวลหากปริมาณฝนน้อยอาจมีความเสี่ยงเรื่องภัยแล้ง ด้านคณะอนุกรรมการฯ วางแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้น้ำในฤดูแล้ง

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ณ ปัจจุบัน (28 สิงหาคม 2555 เวลา 24.00 น.) มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ กฟผ. ทั้งหมด 39,050 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 64% ของความจุ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 605 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำในอ่างฯ ในปีนี้มีน้อยกว่าปีที่แล้ว 17% หรือ -7,768 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำเกือบทุกแห่งมีปริมาณน้ำในอ่างฯ น้อยกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในภาคเหนือมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วมากถึง 39% หรือ -7,520 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนอุบลรัตน์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว 32% หรือ -278 ล้าน ลบ.ม. มีเพียงเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ในภาคตะวันตกที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯ มากกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำโดยทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์น้อย และมีความจุสามารถจะรองรับน้ำได้อีกมาก โดยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ปัจจุบันมีความจุสามารถรองรับน้ำได้รวมกัน 11,282 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถรองรับน้ำได้อีกปริมาณมาก โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาการระบายน้ำของทั้งสองเขื่อนในระยะนี้ให้บริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสมเพื่อความต้องการใช้น้ำจริงเท่านั้น คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งปีหน้าได้เพียงพอ

ส่วนน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์ ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลดลงและกลับสู่สภาวะปกติแล้ว ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 6,945 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 78% ของความจุ มากกว่าปีที่แล้ว 10% หรือ 615 ล้าน ลบ.ม. มีความจุรองรับน้ำได้อีก 1,915 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยวันละ 38 ล้าน ลบ.ม. ได้ลดการระบายน้ำลงเหลือวันละ 35 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา และในช่วงปลายสัปดาห์นี้จะปรับลดการระบายน้ำลงอีกครั้งตามปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนที่ลดลง ทั้งนี้ สภาพฝนในลุ่มน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์จะหมดฝนในราวเดือนกันยายน ซึ่งสถิติน้ำไหลเข้าเขื่อนวชิราลงกรณ์ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนกันยายนเคยสูงสุด 2,484 ล้าน ลบ.ม.ในปี 2538 อยู่ในปริมาณที่เขื่อนสามารถรองรับได้ โดยการระบายน้ำเพียงเล็กน้อย

“สถานการณ์น้ำปี 2555 มีความเสี่ยงที่จะเกิดมหาอุทกภัยเช่นปี 2554 น้อยมาก เนื่องจาก “คณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ” และ “คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ” ได้มีการควบคุมและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด แม้จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากเหมือนปีที่แล้วเขื่อนต่างๆ ก็สามารถรับน้ำได้ ที่น่ากังวลก็คือหากปริมาณน้ำมีน้อยเกินไปจะกระทบต่อการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งหรือไม่ อย่างไรก็มั่นใจว่าปริมาณน้ำที่เก็บกักในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.จะมีเพียงพอใช้อย่างแน่นอน” นายกิตติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น