ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อน กฟผ.ทุกแห่งพร้อมรับมืออุทกภัยอย่างเต็มที่ พร้อมเตรียมปรับแผนระบายน้ำ 2 เขื่อนใหญ่เพิ่มเติมตามความจำเป็นใช้น้ำในการเกษตร หวั่นหากมีฝนน้อยต่อเนื่องหลายเขื่อนอาจประสบปัญหาภัยแล้ง
นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ณ ปัจจุบัน (9 สิงหาคม 2555 เวลา 24.00 น.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ กฟผ. ทั้งหมด 36,528 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 59% ของความจุ น้อยกว่าปีที่แล้ว 17% หรือ -7,226 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในภาคเหนือซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำหลักในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ในปีนี้มีปริมาณน้ำในอ่างฯ น้อยกว่าปีที่แล้วมากถึง 38% หรือ -6,741 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนอื่นๆ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำทุกแห่งมีความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ปริมาตรน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์รวมกัน ณ ปัจจุบัน 10,782 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% น้อยกว่าปีที่แล้ว 38% หรือ -6,741 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้งานได้ 4,132 ล้าน ลบ.ม. มีช่องว่างรองรับน้ำได้รวมกัน 12,190 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้งานได้เมื่อสิ้นฤดูฝนของสองเขื่อนรวมกันในกรณีน้ำน้อย น้ำปานกลาง และน้ำมาก จะมีปริมาณน้ำใช้งานได้สำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปีหน้าประมาณ7,500 ล้าน ลบ.ม. 9,600 ล้าน ลบ.ม. และ 11,800 ล้าน ลบ.ม.
“ระยะนี้ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกและการเลี้ยงปลากระชังมีไม่เพียงพอ คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำจึงพิจารณาเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการเกษตร โดยจะพยายามเพิ่มการระบายน้ำตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อรักษาปริมาณน้ำในอ่างฯ ให้สอดคล้องตามแผนการใช้น้ำในฤดูแล้งปีหน้าด้วยเช่นกัน ซึ่งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์นั้นแทบไม่มีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม แต่ในทางกลับกัน หากปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อยหรือเกณฑ์ปานกลาง จะกระทบต่อการใช้น้ำในปีหน้าและปีถัดไป สำหรับการเตรียมการป้องกันการขาดแคลนน้ำ กรมชลประทานได้แจ้งไปยังชลประทานพื้นที่ให้ประชาสัมพันธ์เรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด” นายกิตติกล่าว