xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.คุมใช้น้ำ 2 เขื่อนใหญ่ป้องขาดแคลนหลังน้ำมีน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เขื่อนภูมิพล
กฟผ.ควบคุมการใช้น้ำเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ใกล้ชิดให้เป็นไปตามแผนเพื่อป้องกันการขาดแคลน เหตุปริมาณน้ำมีเพียง 65% ของความจุอ่างใกล้เคียงกับปี 2552 ซึ่งหากมีการเพาะปลูกพืชเกินพื้นที่ที่กำหนดไว้อาจจัดสรรน้ำให้ได้ไม่เพียงพอ

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์มีรวมกัน 14,955 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 65% ของความจุอ่าง ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยใกล้เคียงกับปี 2552 ดังนั้น กฟผ.จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนเพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนในอนาคต เพราะถ้าหากมีการเพาะปลูกเกินพื้นที่ที่กำหนดไว้แล้วจะไม่สามารถจัดสรรปริมาณน้ำได้เพียงพอ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลได้

“เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์มีแผนระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2556 ทั้งสิ้น 6,800 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ระบายน้ำไปแล้ว 745 ล้าน ลบ.ม. และยังเหลือปริมาณน้ำต้องระบายรวมกันอีกตลอดช่วงฤดูแล้ง 6,055 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปัจจุบันเขื่อนทั้งสองมีปริมาณน้ำใช้งานได้ 8,305 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนที่จะระบาย 2,250 ล้าน ลบ.ม. แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำจำนวนดังกล่าวจะต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้า ซึ่งอาจมีปริมาณฝนไม่เพียงพอหรือช่วงเริ่มต้นฤดูฝนล่าช้า” นายกิตติกล่าว

ทั้งนี้ แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2555/56 ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 23 จังหวัด คณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้วางแผนการเพาะปลูกและการจัดสรรน้ำในเขตชลประทาน โดยรับน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมปริมาณน้ำจากทั้ง 4 เขื่อน 8,000 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงยังมีปริมาณน้ำที่จะผันจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านระบบเชื่อมโยงลงสู่แม่น้ำท่าจีน และสูบใช้ในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างอีกอย่างน้อย 1,000 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่จะสามารถจัดสรรให้พื้นที่เพาะปลูกได้รวม 9,000 ล้าน ลบ.ม. โดยสามารถจัดสรรน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงการเพาะปลูกในเขตชลประทานทั้งสิ้นจำนวน 5.45 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง 5.40 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผัก 0.05 ล้านไร่

สำหรับการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน คณะทำงานฯ ได้วางแผนใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า แหล่งน้ำบาดาล และแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อีกจำนวนทั้งสิ้น 4.15 ล้านไร่ แบ่งเป็นเพาะปลูกข้าวนาปรัง 3.77 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผัก 0.38 ล้านไร่ รวมพื้นที่จัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน 9.60 ล้านไร่ แบ่งเป็นการปลูกข้าวนาปรัง 9.17 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผัก 0.43 ล้านไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น