เอกชนส่งสัญญาณรัฐบาลหมดโอกาสขอตรึงราคาสินค้า จ่อขยับปีหน้า 5-10% หนีแบกภาระต้นทุนค่าแรง 300 บาทต่อวัน ห่วง SMEs กำไร 5-6% ค่าแรงดันต้นทุนพุ่งไม่เหลือให้ทำกำไรอีกต่อไป ส่อปิดกิจการกลางปีหน้า จี้รัฐตั้งกองทุน 5-6 หมื่นล้านบาทจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าแรง
นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐประกาศปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ มีผล 1 ม.ค. 2556 ดังนั้น รัฐบาลก็คงไม่มีเหตุผลที่จะให้เอกชนตรึงราคาสินค้าโดยคาดว่าภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการที่สามารถผลักไปยังราคาสินค้าได้ก็จะเลือกดำเนินการ แต่อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมดก็ตามซึ่งเฉลี่ยราคาสินค้าปีหน้าจะขยับ 5-10%
“ปี 56 รัฐเองคงไม่มีเหตุผลที่จะมาขอไม่ให้ขึ้นราคาไม่ได้ในเมื่อต้นทุนเขาเพิ่มขึ้น แต่การปรับขึ้นราคาเอกชนก็จะมีไม่เท่ากัน โดยรายใหญ่ที่มีกำไรมากและแข่งขันไม่สูงก็สามารถปรับราคาได้มาก ส่วนที่แข่งขันสูงก็อาจจะปรับราคาได้น้อยกว่า แต่ที่สุดราคาสินค้าภาพรวมก็มีแนวโน้มสูงขึ้นแน่นอน” นายธนิตกล่าว
สำหรับสิ่งที่ห่วงคือ วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ซึ่งพบว่ากว่า 75% ของSMEs ทั่วประเทศราว 2.3 ล้านรายได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นค่าแรง และยังพบว่าส่วนใหญ่มีกำไรมากสุด 5-6% ขณะที่ต้นทุนค่าแรงจะเพิ่มขึ้นรวม 18% หากเอสเอ็มอีรายใดปรับราคาได้ก็จะดำเนินการเพราะนั่นหมายถึงจะทำให้ขาดทุน แต่ถ้าขึ้นไม่ได้ก็อาจต้องรับภาระขาดทุนสะสม และอาจเห็นการปิดกิจการได้ในช่วงกลางปี 2556
นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า รัฐบาลควรตั้งกองทุนเพื่อชดเชยส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงิน 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งหากไม่สามารถหามาตรการที่ดีพอมาลดผลกระทบให้เอกชน ปี 2556 ก็จะเห็น SMEs ที่มีถึง 90% ของภาคอุตสาหกรรมทยอยปิดกิจการลง คาดว่าจะเห็นผลกลางปีเป็นต้นไป แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ SMEs บางส่วนจะเป็นห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมรายใหญ่ เช่น สิ่งทอ รองเท้า อาหาร ฯลฯ ผลกระทบอาจจะต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมภาพรวม และนี่อาจจะเป็นต้นเหตุให้เศรษฐกิจไทยพังเร็วขึ้นเพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยก็เปราะบางอยู่แล้ว
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า คณะทำงาน กกร.กำลังพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน และเห็นว่า 27 มาตรการของรัฐส่วนของมาตรการจัดตั้งกองทุนเยียวยานั้นน่าจะได้ผลเร็วสุดเพราะมาตรการอื่นๆ ใช้เวลาและไม่ครอบคลุมต้นทุนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ต่างจังหวัด
“ผู้ประกอบการต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ซึ่งไม่คิดที่จะรับคนเพิ่มและจากนี้ไปคงไม่มีใครคิดจะไปลงทุนต่างจังหวัดแน่ และสิ่งที่ห่วงคือคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศของเราก็ลดลง เพราะการที่ค่าแรงขึ้นทำให้ไม่กล้าเสนอราคาที่จะไปแข่งกับเพื่อนบ้านได้” นายทวีกิจกล่าว