xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้ “ประเทศ ศก.ขนาดใหญ่” ยังขาดแคลนแรงงานฝีมือ-วิศวกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - สหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ยังขาดแคลนแรงงานฝีมือ, วิศวกร และลูกจ้างประเภทอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ผลการศึกษาประจำปีว่าด้วยปัญหาขาดแคลนแรงงานเผย

ผลวิจัยโดยบริษัทจัดหางานยักษ์ใหญ่ แมนเพาเวอร์กรุ๊ป พบว่า ร้อยละ 34 ของนายจ้างทั่วโลกประสบความยากลำบากในการหาคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาแทนตำแหน่งงานที่ว่างลง โดยสถิติดังกล่าวเท่ากับเมื่อปี 2011 แต่สูงกว่าผลวิจัย 3 ปีก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ดี นายจ้างร้อยละ 56 ระบุว่า ปัญหาขาดคนทำงานจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าและนักลงทุนเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งมีนายจ้างเพียงร้อยละ 36 ที่กล่าวเช่นนี้

การขาดแคลนแรงงานยังเป็นปัญหาเรื้อรังในหลายประเทศ ทั้งที่สถิติคนหนุ่มสาวว่างงานสูงมาก เนื่องจากนายจ้างส่วนใหญ่พอใจที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปทั้งๆ ที่ขาดคนเก่ง และลังเลที่จะรับคนเพิ่มในขณะที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นจากภาวะถดถอย แมนเพาเวอร์ระบุ

สาเหตุหลักที่บริษัทไม่รับคนเพิ่มก็คือ ผู้สมัครส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์การทำงาน รวมถึงคุณสมบัติและทักษะพิเศษที่จำเป็น เช่น พูดภาษาต่างประเทศได้ เป็นต้น ขณะที่นายจ้างบางรายบ่นถึงปัญหาผู้สมัครขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงาน

ผลวิจัยชิ้นนี้สรุปจากการสอบถามความคิดเห็นนายจ้าง 40,000 คน ใน 41 ดินแดนและประเทศทั่วโลก

จากผลสำรวจในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าแรงงานฝีมือยังเป็นที่ต้องการมากที่สุด ในขณะที่ระบบการศึกษาทั่วโลกมุ่งเน้นให้นักศึกษาต้องผ่านการเรียนในมหาวิทยาลัย 4 ปี ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาสายอาชีวะและเทคนิคลดลง

ผลการศึกษายังทำนายว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือจะไม่คลี่คลายง่ายๆ เนื่องจากคนรุ่นใหม่เลือกเรียนสายอาชีพน้อยลง และแรงงานฝีมือเกษียณอายุออกไปมากขึ้น

อาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในปี 2012 ได้แก่ ตัวแทนขายสินค้า, ช่างเทคนิค, พนักงานขับรถ, กรรมกร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ ส่วนเจ้าหน้าที่การเงิน, พ่อครัว และผู้จัดการ ก็ติดอันดับท็อปเท็นเช่นกัน

นายจ้างญี่ปุ่นคาดว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือมากที่สุด ตามมาด้วยบราซิล, บัลแกเรีย, ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ

ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ต้องการคนทำงานสายธุรกิจมากที่สุด นายจ้างในสหรัฐฯ, สิงคโปร์, อินเดีย และอีกหลายประเทศ กลับขาดแคลนบุคลากรครู และพยาบาล

นายจ้างในยุโรป รวมถึงไอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์ และสเปน เป็นกลุ่มที่ขาดแคลนแรงงานน้อยที่สุด โดยมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ประสบปัญหาในการจ้างงาน

ในส่วนของวิธีแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน แมนเพาเวอร์พบว่า นายจ้างส่วนใหญ่ใช้วิธีส่งพนักงานไปอบรมทักษะเพิ่มเติม หรือลงประกาศจ้างแรงงานนอกภูมิภาค ขณะที่บางรายต้องยอมใช้คนที่คุณสมบัติไม่พอไปก่อน โดยหวังว่าพวกเขาจะค่อยๆ เรียนรู้งาน

อย่างไรก็ตาม นายจ้างส่วนใหญ่ยังไม่ใช้วิธีเพิ่มเงินเดือนเพื่อดึงดูดคนดีมีความสามารถ โดยมีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่ยอมปรับเงินเดือนเริ่มต้นให้สูงขึ้น ขณะที่ร้อยละ 7 เสนอสวัสดิการพิเศษและจ่ายโบนัสให้
กำลังโหลดความคิดเห็น