xs
xsm
sm
md
lg

โรงงานมึนยังไม่ฟื้นน้ำท่วมเจอออเดอร์หดจาก ศก.ยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
โรงงานเริ่มชะลอรับแรงงานเพิ่มแม้จะเริ่มฟื้นตัวการผลิตจากน้ำท่วมแล้วก็ตาม เหตุเจอภาวะเศรษฐกิจยุโรป สหรัฐอเมริกาที่ยังไร้วี่แววฟื้นตัวฉุดคำสั่งซื้อวูบ 20-30% โรงงานใช้แรงงานเข้มข้นดิ้นหนีพึ่งเพื่อนบ้าน หวั่นเอสเอ็มอีไปไม่รอด

นายพากร วังศิลาบัตร รองประธานสายงานแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเริ่มลดลงหลังโรงงานหลายแห่งเริ่มชะลอการรับคนเพิ่มเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศภาพรวมเริ่มชะลอตัวจากผลพวงภาวะเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐอมริกาที่ยังคงมีปัญหาโดยคำสั่งซื้อหรือออเดอร์การผลิตเพื่อการส่งออกโดยรวมลดลง

“การขาดแคลนแรงงานคงไม่ใช่ปัญหาแล้วเพราะโรงงานที่ประสบภาวะน้ำท่วมหลายแห่งกำลังฟื้นตัวแต่กลับต้องเจอกับคำสั่งซื้อที่ลดลงตามไปด้วย เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ล่าสุดลดลง 20-30% จะมีเพียงอุตสาหกรรมยานยนต์หลักๆ ที่ยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าโรงงานจะกลับมาฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วมได้ 100% เป็นไตรมาส 4 ดังนั้นจึงมองว่าการส่งออกของไทยหากจะให้โตตามเป้าหมาย 15% ส่วนตัวผมมองว่าเป็นไปได้ยาก” นายพากรกล่าว

ทั้งนี้ ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำทำให้การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศถูกกำหนดราคามาให้ผลิตมากขึ้น ซึ่งพบว่าหลายสินค้าของไทยไม่สามารถรับราคาดังกล่าวได้จึงทำให้บางส่วนเสียตลาดไปให้จีน เวียดนาม ที่มีต้นทุนต่ำกว่า โดยต้นทุนส่วนหนึ่งของไทยที่สูงขึ้นคือผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำที่ปรับขึ้น 300 บาทต่อวัน นำร่อง 7 จังหวัด และทั่วประเทศจะมีผลปี 2556

ปัจจัยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นของไทยจะผลักดันให้นักลงทุนที่ใช้แรงงานเข้มข้นมองหาฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านแทน หรือส่วนหนึ่งหันไปพึ่งพาเครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่เช่นนั้นระยะยาวคงจะสู้จีนและเวียดนามไม่ได้ ขณะที่สินค้าภาพรวมจะต้องหนีการผลิตไปสู่ระดับกลางและบนโดยการสร้างแบรนด์เป็นของตนเองและมองหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งแนวทางนี้จะต้องใช้เวลามากและไม่ง่ายนักสำหรับผู้ประกอบการรายกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอีจึงน่าเป็นห่วงสุด

“ใครปรับตัวไม่ได้ก็ต้องปิดตัวเองไป หรือบางส่วนก็หันไปเป็นเทรดเดอร์แทนซึ่งยอมรับว่าค่าแรงที่ปรับขึ้นรัฐควรจะให้เวลาปรับตัวแต่นี่เร็วไปทำให้เอสเอ็มอีลำบากเพราะทุนน้อย ซึ่งเอสเอ็มอีบางรายที่ทำงานกันแบบครอบครัวเขาก็คุยกับลูกจ้างว่าปรับให้ไม่ถึง 300 บาทต่อวันแต่ธุรกิจยังอยู่ได้ลูกจ้างก็ยอม” นายพากรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น