ASTVผู้จัดการรายวัน - เครือเบทาโกรจับมือมหาวิทยาลัยทั้งจุฬาฯ-เกษตรศาสตร์ตั้งศูนย์ทดสอบวิจัยฯ และโรงงานต้นแบบฯต่อยอดธุรกิจฟาร์มและอาหารสัตว์ ใช้เงินลงทุนเกือบ 70 ล้านบาท พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างนักวิจัยภาคเกษตรและอาหารด้วย หวังสร้างองค์ความรู้รองรับการเปิด AEC
น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเครือเบทาโกร บริษัท ศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งศูนย์ทดสอบวิจัยวิทยาศาสตร์สัตวแพทย์จุฬาฯ-เบทาโกร โดยจะทดสอบเชิงลึกในไก่และสุกร โดยบริษัทฯ จะสนับสนุนเงินจำนวน 50 ล้านบาทในการสร้างอาคาร อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ โดยศูนย์ทดสอบวิจัยดังกล่าวจะแล้วเสร็จเดือน ก.ย. 2556 หลังจากนั้นจะตั้งบริษัทร่วมทุนกับจุฬาฯ เบื้องต้นมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาทเพื่อบริหารจัดการศูนย์วิจัยฯ รวมทั้งรับจ้างทำวิจัยและเปิดให้เอกชนอื่นเข้ามาเช่าพื้นที่ในการวิจัยด้วย คาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะมีกำไรภายใน 1-2 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ บริษัทฯ จะร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งโรงงานต้นแบบการผลิตเอนไซม์เค-ราติเนสสำหรับย่อยขนไก่เพื่อผลิตเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ บริษัทฯ จะลงทุนด้านอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ 19 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2556 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการทดสอบใช้เอนไซม์เค-ราติเนสมาย่อยขนส่งไก่แล้วนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ในห้องแล็บได้ผลออกมาดี หากโครงการนำร่องประสบความสำเร็จก็จะต่อยอดไปทดลองในฟาร์มทดสอบที่มีขนาดใหญ่ขึ้นก่อนต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
โดยโรงงานนำร่องนี้จะเปิดให้บริการแก่ภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อเข้ามาทำวิจัยด้านเอนไซม์หรือหัวเชื้อต่างๆ ด้วย โดยจะตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนเพื่อเข้ามาบริหารจัดการเหมือนศูนย์ทดสอบวิจัยฯ
ที่ผ่านมาเครือเบทาโกรตั้งงบในการวิจัยและพัฒนา 0.2% ของยอดขายรวม โดยปีที่แล้วบริษัทมียอดขายประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ก็มีการกำหนดงบการวิจัยและพัฒนาไว้ 120 ล้านบาทในปีนี้ ไม่รวมงบการลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและโรงงานนำร่องดังกล่าวข้างต้น และปีหน้าคาดว่างบวิจัยก็จะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากผลการดำเนินงานงวดปี 2556 มียอดขายสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาท แม้ว่าราคาเนื้อไก่และหมูในประเทศจะต่ำลง แต่บริษัทก็หันไปทำตลาดส่งออกต่างประเทศทั้งญี่ปุ่น และยุโรป โดยมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็น 20% ของกำลังผลิต
วันนี้ (12 พ.ย.) นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือเบทาโกร ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ โครงการสนับสนุนการศึกษาระดับปริญญาเอก โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการวิจัยที่มีความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและสามารถนำงานวิจัยที่ได้มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายวนัสกล่าวต่อไปว่า ปัญหากำลังการผลิตเนื้อไก่และหมูที่ล้นตลาดในประเทศนั้น เกิดจากผู้ประกอบการบางรายขยายกำลังการผลิตมากเกินไปจนส่งผลกระทบในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ผลิตบางรายได้ลดกำลังการผลิตลงทำให้ราคาเนื้อไก่และหมูขยับสูงขึ้นบ้าง แต่ในส่วนเบทาโกรนั้นไม่ได้มีการลดกำลังการผลิตแต่อย่างใด อีกทั้งบริษัทฯ ยังเห็นศักยภาพในการพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่มแปรรูปในเนื้อไก่และสุกรเพื่อส่งออกโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ซึ่งในอนาคตจะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีถึง 25% ของจำนวนประชากรในปี 2573 จำเป็นต้องพัฒนาสินค้าเพื่อสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้
ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาจึงเป็นกลยุทธ์ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญและใช้เงินลงทุนกับโครงการวิจัยมาก ทั้งการสร้างบุคลากรวิจัยให้มากพอทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลไทยใช้เงินในการวิจัยและพัฒนาเพียงร้อยละ 0.23 ของจีดีพี ต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซียมาก ทำให้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของไทยต่ำกว่ามาเลเซีย และสิงคโปร์
ซึ่งการสนับสนุนการวิจัยต่างๆ ของเบทาโกรนี้เป็นการสร้างองค์ความรู้ และยกระดับการสร้างบุคลากรวิจัยด้านอาหารและภาคการเกษตรเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยบริษัทจะสนับสนุนทุนการศึกษาเป็นเวลา 5 ปี คิดเป็นเงิน 26 ล้านบาท