สภาที่ปรึกษาฯ แนะ “คมนาคม” ปรับนโยบายชู Multi Airport แทน Single Airport หนุนใช้ประโยชน์สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา และสนามบินภูมิภาคของ บพ. เตรียมตัวรับการเติบโตหลังเปิด AEC และผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซน คาดต้องเสนอครม.หาข้อสรุป เหตุมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ได้ประชุมการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพเรือ กองทัพบก กองทัพอากาศ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศ.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรมการบินพลเรือน (บพ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยที่ประชุมมีความเห็นว่าควรเปลี่ยนนโยบายการใช้ท่าอากาศยานจากสนามบินเดี่ยว (Single Airport) โดยมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักเพียงแห่งเดียว เป็น Multi Airport โดยใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิควบคู่กับท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานภูมิภาคของกรมการบินพลเรือน (บพ.) ทั้ง 28 แห่งอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าการเติบโตของผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเกินขีดความสามารถรองรับ โดยอยู่ระหว่างพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 และใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองเต็มรูปแบบแล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องระบบเชื่อมโยงการเดินทางระหว่าง 2 สนามบิน โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้จัดรถ Shuttle Bus บริการ ในขณะที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-ดอนเมือง จะเป็นระบบเชื่อมการเดินทางที่ถาวร แต่ต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 4-5 ปี ดังนั้น ในระหว่างนี้ควรปรับปรุงระบบที่มีและเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางเดินเลื่อน (walk away) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
“ทางสภาที่ปรึกษาฯ เสนอแนะว่า การคิดเพื่อวางแผนรองรับการเติบโตไม่ควรคิดเป็นเส้นตรง โดยผู้โดยสารทางอากาศมีการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี ในขณะช่วงปลายปี 54 ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมถึง 4 เดือน แต่สุวรรณภูมิมีผู้โดยสารรวมถึง 51 ล้านคน ดังนั้น การวางแผนแบบเดิมๆ อาจจะผิดพลาดได้ ต้องมองให้รอบด้าน รวมถึงมีการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) ซึ่งไทยถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญต่อการเดินทางในภูมิภาคด้วย และภาวะเศรษฐกิจของยุโรปและอเมริกาที่ทำให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากจีนหันมาโซนเอเชียมากขึ้น หรือกรณีพม่าที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก แต่การเดินทางไปถึงยังไม่สะดวก ประเทศไทยจะเป็นจุดผ่านที่สำคัญ” นางสร้อยทิพย์กล่าว
สำหรับการใช้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์นั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ให้กระทรวงคมนาคมหน่วยงานหลักประสานงานกับกองทัพเรือ ในการพัฒนาเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ซึ่งกองทัพเรือแจ้งว่าได้รับงบประมาณ 230 ล้านบาทจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) หลังจากเกิดสถานการณ์อุทกภัยปลายปี 2554 เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นท่าอากาศยานสำรองเชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องไปพิจารณาให้ชัดเจนอีกครั้ง
โดยปัจจุบันท่าอากาศยานอู่ตะเภารองรับผู้โดยสารที่ 79,000 คนต่อปี และได้ดำเนินการขยายอาคารผู้โดยสาร เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ที่ 1,500 คนต่อชั่วโมง และมี 49 หลุมจอด ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2556 โดยกระทรวงคมนาคมจะสรุปความเห็นทั้งหมดเสนอต่อ ครม.ต่อไป