xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวบินอันตราย “ไปไม่กลับ” กับพี.ซี.แอร์ บทเรียนที่คนไทยต่างผวา!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากเหตุการณ์ชาวไทยกว่า 200 คนติดอยู่ที่สนามบินนานาชาติอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากสายการบินพี.ซี.แอร์ประสบปัญหาไม่สามารถนำเครื่องขึ้นบินได้ โดยติดอยู่ที่สนามบินนานกว่า 25 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับการดูแลจากทั้งสายการบินและหน่วยงานของภาครัฐ

ซึ่งปัญหานั้นอยู่ในขั้นตอนของการสืบหาข้อเท็จจริง โดยมีบริษัท พี.ซี.แอร์ เป็นจำเลยของเรื่องทั้งหมด อย่างไรก็ตามการมีสายการบินขนาดเล็กทำให้เกิดความเสี่ยงในการให้บริการอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะทัวร์ต่างๆที่เป็นลูกค้ากับสายการบินเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้ในอนาคต กรณีแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้อีก

พี.ซี.แอร์ สายการบินเล็กสร้างกระแส
 
จากที่กรมการบินพลเรือนประกาศจัดระเบียบใหม่ ส่งเสริมให้บินในเส้นทางการบินที่ไม่มีคู่แข่ง แก้ไขกรอบเกณฑ์ในการจดทะเบียนหลายอย่างจน 17 สายการบินใหม่เปิดตัวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2554 ซึ่งเป็นการขอทำการบินในลักษณะเที่ยวบินแบบไม่ประจำ,เที่ยวบินแบบประจำ และเที่ยวบินแบบไม่ประจำแต่มีกำหนดตารางบินที่แน่นอนมีอายุใบอนุญาต 5 ปี ส่งผลให้ปัจจุบันมีสายการบินของไทยที่ได้รับใบอนุญาตรวมกว่า 52 สายการบินโดย 1 ในนั้นคือพี.ซี.แอร์

โดยสายการบินนี้สร้างความฮือฮาด้วยการเปิดตัวแอร์โฮสเตสสาวประเภทสอง พร้อมประกาศอุดมการณ์ความเท่าเทียมในเรื่องเพศเป็นการพยายามสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสังคม

ปีเตอร์ ชาน เจ้าของพี.ซี.แอร์ เคยกล่าวว่า สาเหตุที่คัดเลือกสาวประเภทสองเข้ามาร่วมงานในสายการบินนั้น เนื่องจากต้องการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมไทย พร้อม ๆ กับเชื่อว่าแอร์โฮสเตสสาวประเภทสองนี้จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยในอีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังต้องการขยายโอกาสให้สาวประเภทสองที่มีความสามารถได้เข้ามาทำงานที่ใฝ่ฝัน

อย่างไรก็ตาม พี.ซี.แอร์ก็เกิดปัญหาขึ้น หลังจากทัวร์มากมายจองตั๋วบินด้วยราคาที่ประหยัด กลับกลายเป็นความเสี่ยง เนื่องจากสนามบินไม่อนุญาตให้ขึ้นบิน จากปัญหาค่าค้างการจ่ายค่าน้ำมัน พร้อมทั้งกฎการอยู่ในสนามบินได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมงของสนามบินนานาชาติอินชอนก็ทำให้คนไทยที่ติดค้างอยู่ต้องประสบกับความยากลำบากอย่างหนัก

แม้ว่าต่อมาจะได้รับการช่วยเหลือจากภาคส่วนอื่น แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นภาพสะท้อนของปรากฏการณ์หลายๆอย่างที่เกิดขึ้น

พ.ต.อ.ปัญญา ปิ่นสุข กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค(ผบก.ปคบ.) ให้รายละเอียดของข้อเท็จจริงที่อยู่ในกระบวนการสืบสวนว่า สายการบินพี.ซี.แอร์นั้นมีสัญญาบินลงที่อินชอนโดยมีบริษัทริดาโมด้าขายตั๋วในประเทศไทย และสกายเซ็ททำสัญญาด้านการบินในอินชอน โดยก่อนที่จะเกิดปัญหาผู้โดรสารค้างที่สนามบิน พบว่า มีบริษัท อโดนิส(Adonis) เข้ามาอ้างสิทธิขายตั่วบินจากพี.ซี.แอร์ทับซ้อน

“ข้อเท็จจริงตรงนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างการสืบสวน โดยบริษัทอโดนิสสวมสิทธิ์ขายตั๋วทับซึ่งแม้บริษัทอยู่ที่เกาหลี แต่ขายโดยพนักงานอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งโดยปกติแล้วบริษัททัวร์จะสามารถตรวจสอบได้ว่า เที่ยวบินเหล่านั้นมีที่นั่งจริงหรือไม่”

มาตรฐานการท่องเที่ยว

การที่พลเมืองของประเทศไทยติดค้างอยู่ที่อินชอนเป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในต่างประเทศ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์ผู้พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า จะมีการช่วยเหลือพลเมืองในประเทศของตนเองอย่างดี และปัญหาสายการบินไม่สามารถให้บริการได้นั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“มันไม่ได้ไม่สามารถให้บริการได้ทั้งสายการบินแบบนี้ จะมีติดขัดทางเทคนิคนิดหน่อยเท่านั้น ตรงนี้สายการบินก็ต้องรับผิดชอบ หากเป็นในประเทศที่พัฒนาแล้วนะ”

จากประกาศว่าด้วยเรืองสิทธิของผู้ใช้บริการสายการบินภายในประเทศ ได้ระบุสิทธิของผู้บริโภคหลายอย่างเอาไว้ อาทิ ถ้าผู้โดยสายไม่สามารถเดินทางได้ โดยไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เป็นความบกพร้องของสายการบิน จะต้องจัดที่พักให้ จัดอาหารให้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ สายการบินออกให้ หรือหากสายการบินไม่สามารถให้บริการได้จะต้องจัดหาเที่ยวบินอื่นให้ หรือไฟลต์ใหม่ หากว่ามีราคาเพิ่มขึ้นสายการบินมาเรียกกับผู้บริโภคไม่ได้ แต่หากน้อยกว่าก็ต้องคืนเงินให้ผู้บริโภค

“แต่ประกาศนี้เฉพาะสายการบินภายในประเทศ กรณีที่เกิดขึ้นมาจากสายการบินระหว่างประเทศ ซึ่งกรมการบินพลเรือนไม่สามารถดำเนินการได้ ตรงนี้เป็นปัญหาของหลายหน่วยงานด้วย”

โดยหลักการทั่วไปคือ 1. จัดหาอาหารให้ 2. หาที่พักให้ 3. จัดหาไฟลต์ที่สามารถเดินทางกลับได้โดยไวที่สุด หน่วยงานในต่างประเทศอย่างสถานฑูตจึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ในการช่วยเหลือพลเมืองในประเทศของตัวเอง

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือในทันที ผู้บริโภคอาจจะต้องออกค่าใช้จ่ายให้การเดินทางกลับเอง แล้วเอาใบเสร็จที่แสดงถึงความเสียหายนั้นไปเรียกร้องกับบริษัททัวร์”

แน่นอนว่าเป็นกลไกที่ผลักภาระไปให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ลำดับขั้นของความเสียหายนั้น ผู้เสียหายที่ตกค้างที่สนามบินจะต้องไปฟ้องกับบริษัททัวร์ และบริษัททัวร์ต้องไปฟ้องร้องเอากับสายการบินอีกชั้นหนึ่ง ผู้เสียหายในกรณีนี้จึงมีสองชั้นด้วยกัน

“แต่บริษัททัวร์กับสายการบินก็สมประโยชน์กันในตอนแรก เพราะสายการบินพวกนี้ไม่มีเครดิต ราคาถูก ทำให้ทัวร์ได้ประโยชน์จากผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัททัวร์ไม่มีปัญหากับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกค้า ปัญหาตรงนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาควรมาดูแล”

อย่างไรก็ตาม สายการบินขนาดเล็กที่เกิดขึ้นมากมายทำให้มีความเป็นไปได้ที่ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นอีก

“มันอาจจะคล้ายกับปัญหารถตู้ก็ได้นะ ที่ออกใบอนุญาติให้มันมีๆไปเถอะ แต่คุณภาพไม่มี พอเกิดปัญหาก็มาแก้ไขทีหลัง ผมว่ามันสะเปะสะปะไร้ทิศทาง คำนึกถึงเศรษฐกิจแต่ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ”

ในฐานะของผู้บริโภค การจะตรวจสอบด้วยตัวเองก่อนขึ้นบิน เขามองว่า เป็นไปไม่ได้ จากกรณีอย่างแคลิฟอร์เนีย ว้าว ผู้บริโภคก็คงจะไม่เข้าไปตรวจดูบัญชีของบริษัทนั้นๆ สิ่งที่สำคัญคือกลไกของรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่า

“แนวทางในการแก้ไขปัญหา ควรให้ภาครัฐเข้ามาเป็นผูรับภาระแทนผู้บริโภค อย่างการออกค่าใช้จ่ายในการบินกลับ แล้วภาครัฐก็ไปแจ้งร้องเอากับเอกชนเอง”

แต่ตอนนี้ทางเลือกของผู้บริโภคคือไปเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สบค.) ดำเนินคดี โดยแนวทางส่วนใหญ่สบค.จะเน้นที่การไกล่เกลี่ยประเมินจากความเสียหายของผู้บริโภค และกำลังทรัพย์ของผู้กระทำความผิด ดังนั้นความเสียหาย 100 อาจได้รับการชดเชยเพียง 30 - 70 ขณะที่อีกทางคือการฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค หากศาลตัดสินความเสียหาย 100 ผู้บริโภคจะได้รับการชดใช้ 300 พร้อมดอกเบี้ย

“แต่ทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นชั้นตอนที่หนักหนาและเป็นภาระมากสำหรับผู้บริโภค ในภาพกว้างปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของการท่องเที่ยวที่เน้นด้านเศรษฐกิจมากจนเกินไปด้วย”




สนามบินนานาชาติอินชอน
แอร์โฮสเตสสาวประเภทสองที่สร้างกระแสฮือฮา
กำลังโหลดความคิดเห็น