พิษทัวร์เช่าเหมาลำสายการบินทิ้งผู้โดยสารสะท้อนมาตรการควบคุมและการออกใบอนุญาตการบินให้สายการบินยังมีช่องโหว่ ไม่ทันสมัย “คมนาคม” ยอมรับกรณี “พี.ซี.แอร์” เป็นบทเรียน สั่ง บพ.รื้อเกณฑ์และขั้นตอนการออกใบอนุญาต เน้นมาตรฐานแบ่งย่อยรูปแบบการบินให้ชัดเจนมากขึ้น ให้สอดคล้องกับการแข่งขันของธุรกิจการบินในปัจจุบัน เผยข้อมูลเอเยนต์เกาหลีไม่ตรง พี.ซี.แอร์ ชี้มีหน้าที่แค่ขายตั๋วเรื่องอื่นไม่เกี่ยว สั่งหาข้อมูลบริษัทน้ำมันก่อนตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงใน 7 วัน
สายการบิน พี.ซี.แอร์สร้างความฮือฮาเมื่อปลายปี 2554 โดยเปิดรับสาวประเภทสองมาเป็นแอร์โฮสเตสและกลายเป็นสายการบิน...นางฟ้าจำแลง สายการบิน...นะยะสายแรก โดย พี.ซี.แอร์ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2558 เปิดทำการบินเที่ยวบินแรกในรูปแบบเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (CHARTER FLIGHT) วันที่ 24 ธ.ค. 2554 เส้นทางดอนเมือง-เวียงจันทน์ จากนั้นทยอยทำการบินเส้นทางดอนเมือง-ฮ่องกง โดยล่าสุดได้รับใบอนุญาตการบินเส้นทางดอนเมือง-อินชอน ระหว่างวันที่ 1-31 ต.ค. 2555
จนกระทั่งวันที่ 16 ต.ค. 2555 เครื่องบินของ พี.ซี.แอร์เกิดปัญหาไม่สามารถทำการบินออกจากท่าอากาศยานอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ได้ ทำให้ผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวจากบริษัททัวร์ต่างๆ ที่เช่าหมาเครื่องบินของ พี.ซี.แอร์กว่า 400 คนต้องตกค้างอยู่ที่ท่าอากาศยานอินชอน โดยกรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้รับแจ้งเหตุจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเกาหลีใต้ ในเวลา 14.00 น.ของวันที่ 17 ต.ค. 2555 ว่า สาเหตุเพราะสายการบินค้างขำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน บริษัทจึงไม่เติมเชื้อเพลิงให้
ด้าน นายปีเตอร์ ซาน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร พี.ซี.แอร์ ชี้แจงว่า บริษัทจ่ายเงินค่าใช้บริการสนามบินผ่านบริษัทตัวแทนชื่อ Sky Jet และไม่ทราบว่าทาง Sky Jet ค้างชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) บินด่วนไปเกาหลีใต้เพื่อดูแลผู้โดยสารพร้อมกับตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยหลังพบกับเอเยนต์ที่เกาหลีแล้วพบว่าข้อมูลไม่ตรงกับที่ พี.ซี.แอร์กล่าวอ้างโดยเอเยนต์ยืนยันว่ามีหน้าที่ขายตั๋วอย่างเดียว เรื่องการจ่ายเงินต่างๆ พี.ซี.แอร์จะจ่ายตรงกับสนามบินและบริษัทน้ำมันเอง ดังนั้นจะต้องพบกับบริษัทน้ำมันที่สนามบินอินชอนเพื่อหาข้อเท็จจริงของสัญญาการจ่ายเงินต่อไป จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน
นายชัชชาติยอมรับว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับ พี.ซี.แอร์ ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาของเอกชนในเรื่องการดำเนินธุรกิจ หรือมีปัญหาสภาพคล่อง แต่อีกส่วนหนึ่งถือเป็นความบกพร่องในส่วนภาครัฐที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตและควบคุมการให้บริการด้วย โดยหลังจากนี้จะต้องพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบเงื่อนไขขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้สายการบินเช่าเหมาลำใหม่ เช่น จำนวนเครื่องบิน 1 ลำเหมาะสมหรือไม่, หลักฐานทางการเงิน/วงเงินค้ำประกัน เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจการบินในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลง
“กฎระเบียบที่ใช้อยู่ปัจจุบันยังมีช่องโหว่ ไม่ทันสมัย และไม่สอดคล้องกับธุรกิจการบินในปัจจุบัน โดยเฉพาะพวกเช่าเหมาลำที่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากขึ้น อาจจะต้องเป็นกฎที่แยกย่อยในแต่ละรูปแบบของประเภทของสายการบินเช่าเหมาลำ เช่น แบบบินรายเดือน หรือแบบนานๆ บิน รวมถึงตรวจสอบเอเยนต์ที่ใช้ในต่างประเทศด้วย” นายชัชชาติกล่าว
ส่วนความผิดพลาดของ พี.ซี.แอร์เข้าข่ายที่ บพ.จะยกเลิกใบอนุญาตการบินได้แล้ว ขณะที่ พี.ซี.แอร์ได้แจ้งความประสงค์เบื้องต้นมาแล้วว่าต้องการหยุดบินก่อนชั่วคราว แต่กระทรวงคมนาคมกังวลว่าจะกระทบต่อผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าไปแล้ว จึงบังคับให้ พี.ซี.แอร์ทำการบินตามที่กำหนดไว้ต่อไป แต่ในที่สุด พี.ซี.แอร์ไม่สามารถเคลียร์ปัญหาการเงินกับเอเยนต์ได้ จึงทำหนังสือถึง บพ.แจ้งขอหยุดบินชั่วคราว 2 สัปดาห์ตั้ งแต่วันที่ 20 ต.ค.เป็นต้นไป ซึ่งจะแก้ปัญหาที่เครื่องบินของ พี.ซี.แอร์ต้องเข้าตรวจเช็กระยะบิน 500 กิโลเมตร (A-Check) ด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ผู้โดยสารต้องถูกทอดทิ้งอยู่ในสนามบินเพราะเที่ยวบินล่าช้านานหลายชั่วโมงโดยไม่ได้รับการดูแลจากสายการบินไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะช่วงที่สายการบินต้นทุนต่ำ (LOW COST AIRLINE) เริ่มบุกตลาดใหม่ๆ เกิดบ่อยจน บพ.ต้องออกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศไว้ในเงื่อนไขประกอบใบอนุญาตของผู้ประกอบการค้าขายในการเดินอากาศแบบประจำของไทยทุกราย แต่ไม่ครอบคลุมเช่าเหมาลำ
ทั้งนี้ รมช.คมนาคมได้ให้ บพ.เร่งร่างกฎกระทรวงคุ้มครองผู้โดยสารสายการบินเช่าเหมาลำภายใน 1 เดือนนี้แล้ว ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางไปเกาหลีก่อนที่ พี.ซี.แอร์จะประกาศหยุดบินนั้นจะทยอยกลับโดยเครื่องบินการบินไทย โดยผู้โดยสารชุดสุดท้ายจะกลับถึงไทยเวลาประมาณ 01.00 น. เช้าวันที่ 23 ต.ค. 2555