ค่าไฟฟ้าปี 2556 เฉลี่ยอาจเห็นทะลุ 4 บาทต่อหน่วยได้หากน้ำมันโลกยังคงสูงต่อเนื่อง แถมภาระเดิมที่ยังค้างจ่ายต้องทยอยขึ้นอีกงวดละ 6.55 สตางค์ต่อหน่วย 3 งวด แต่ยังลุ้นบาทแข็งช่วยลดผลกระทบ “เรกูเลเตอร์” ส่งสัญญาณเบรก ใช้วิธีให้ กฟผ.ตรึงต่อเพื่อดูแลผลกระทบ ศก.และค่าครองชีพเป็นหลัก
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าปี 2556 จะยังทรงตัวในระดับสูง โดยมีโอกาสเห็นค่าไฟเฉลี่ย (ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ Ft กับค่าไฟฟ้าฐาน) ทะลุระดับ 4 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 3.71 บาทต่อหน่วยได้หากรัฐไม่ตรึงราคา เนื่องจากทิศทางน้ำมันดิบดูไบที่หลายฝ่ายคาดการณ์ยังเคลื่อนไหวในกรอบที่สูงคือ 105-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะสะท้อนไปยังราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าถึง 72% ให้ปรับตัวตาม
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินที่ขณะนี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากการเข้ามาเก็งกำไรของกองทุน หรือเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้ช่วยลดผลกระทบได้ระดับหนึ่ง แต่คงจะไม่ครอบคลุมได้มากเนื่องจากค่า Ft ในงวด ก.ย.-ธ.ค. 55 นั้นปรับไปเพียง 18 สตางค์ต่อหน่วยจากต้นทุนจริง 38.24 สตางค์ต่อหน่วย โดยให้ กฟผ.รับภาระไปก่อนและจะไปทยอยคืน 3 งวดในปี 2556 งวดละ 6.55 สตางค์ต่อหน่วย
“ถ้าดูน้ำมันและถ่านหินยังคงเป็นขาขึ้นอยู่ ขณะที่เขื่อนใหญ่ที่จะปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรเป็นหลักแต่จะได้ผลิตไฟเป็นผลพลอยได้ก็อาจจะไม่มากเพราะน้ำน้อยจากปีก่อน ดังนั้นปี 2556 เชื่อว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือเรกูเลเตอร์ คงจะใช้วิธีตรึงค่าไฟโดยให้ กฟผ.แบกรับภาระเช่นปีนี้อีก” แหล่งข่าวกล่าว
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า แนวโน้มค่า Ft คงจะต้องดูปัจจัยราคาน้ำมันและค่าเงินบาทเป็นสำคัญ แต่ทิศทางค่าบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อต้นทุนที่ต่ำลงได้ ซึ่งยอมรับว่าภาระเดิมที่ตรึงไว้ก็ยังมีอยู่ เรกูเลเตอร์เองก็คงจะต้องบริหารจัดการที่จะต้องดูแลผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยและค่าครองชีพประชาชนเป็นสำคัญ โดยหากขึ้นมากก็อาจจะต้องใช้วิธีเฉลี่ยเช่นที่ผ่านมา
“ยอมรับว่าการตรึงค่าไฟระยะยาวคงไม่เป็นผลดีจะต้องคำนึงถึงการประหยัด และภาระ กฟผ.ด้วย โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558 ไทยเองก็จะต้องปรับบทบาทที่สอดรับกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน” นายดิเรกกล่าว
ทั้งนี้ องค์กรกำกับกิจการพลังงานประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รวมตัวกันจัดตั้ง Interim of ASEAN Energy Regulators’ Network (AERN) ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ และตนได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานของ Network ดังกล่าว โดยเน้นหลักการกำกับกิจการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยส่งเสริมความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อรับการเข้าสู่ AEC ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ในการเชื่อมระบบสายส่งที่ไทยจะมีโอกาสซื้อไฟจากต่างประเทศในราคาที่ต่ำลงได้
“ระบบสายส่งไฟฟ้าน่าจะเชื่อมโยงและเกิดขึ้นได้ก่อนการเชื่อมโยงระบบท่อก๊าซฯ เนื่องจากในภูมิภาคอาเซียนเรื่องของก๊าซฯ จะมีแต่ผู้ใช้ ขณะที่ผู้ขายมีเพียงอินโดนีเซียเท่านั้น ขณะที่ไฟฟ้านั้นมีมากกว่า โดยไทยจะเป็นผู้รับซื้อ แต่เรามีสายส่งก็น่าจะขยายเครือข่ายและใช้เป็นช่องทางที่จะเชื่อมไปยังประเทศอื่นๆ โดยเก็บค่าบริการได้” นายดิเรกกล่าว