“อารักษ์” ส่งสัญญาณตรึงราคา NGV ที่ 10.50 บาทต่อ กก.จนถึงสิ้นปี หลังผลการศึกษาปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ยังไม่เสร็จ แต่แอลพีจีภาคขนส่งต้องดูตลาดโลกเหตุขึ้นต่อเนื่อง พร้อมศึกษาตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรใหม่ว่าเป็นตัวเลขที่หมาะสมหรือไม่ ขณะที่เรกูเลเตอร์เล็งเคาะค่าไฟพรุ่งนี้ขึ้นไม่เกิน 20 สตางค์ต่อหน่วย
นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องแนวทางและขั้นตอนการอนุญาตปลูกสร้างอาคารและการอื่นเพื่อประกอบกิจการพลังงาน ระหว่างคณะกรรมการกิจการพลังงาน(เรกูเลเตอร์) กับกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ว่า ขณะนี้ทางเรกูเลเตอร์กำลังทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการปรับขึ้นราคา NGV ที่ขณะนี้ตรึงราคาไว้ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) โดยหากการศึกษายังไม่เสร็จก็อาจจะไม่ปรับขึ้น
“คงจะต้องเห็นชอบให้ตรงกันด้วยในเรื่องนี้ จึงต้องรอผลศึกษาเรกูเลเตอร์ก่อนซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าอาจจะสรุปสิ้นปีนี้ การตัดสินใจก็ต้องรอผลศึกษาด้วย แต่ขณะเดียวกันคงต้องดูทิศทางก๊าซในตลาดโลกประกอบโดยเฉพาะส่วนของแอลพีจีภาคขนส่งที่จะต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งวันที่ 16 ก.ย.นี้ เนื่องจากแอลพีจีนำเข้าขณะนี้มีราคาสูงขึ้นมาก” นายอารักษ์กล่าว
นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะหานักวิชาการที่เป็นกลางมาศึกษาถึงความเหมาะสมของตัวเลขที่รัฐบาลได้ตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาการตรึงราคาไม่ให้เกินระดับดังกล่าวเพื่อดูแลผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อเนื่องจากจะกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งและราคาสินค้าให้ปรับขึ้นได้ แต่ขณะนี้ยอมรับว่าปัจจัยหลายด้านเปลี่ยนไปทั้งเศรษฐกิจและราคาน้ำมันตลาดโลก จึงต้องมาศึกษารายละเอียดซึ่งตัวเลขก็อาจจะปรับขึ้นหรือลงได้เช่นกัน
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า การประชุมเรกูเลเตอร์วันพรุ่งนี้ (6 ก.ย.) จะพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft งวดใหม่ ประจำเดือน ก.ย.-ธ.ค. 55 ให้ขึ้นไม่เกิน 20 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนจากตัวเลขจริงที่ควรจะปรับขึ้นสูงถึง 68 สตางค์ต่อหน่วย โดยใช้วิธีเกลี่ยการปรับขึ้นจากต้นทุนจริงเนื่องจากมีแนวโน้มว่า Ft ในต้นปี 2556 จะยังมีทิศทางปรับขึ้นอีกจากราคาน้ำมันเตาที่ยังคงมีทิศทางที่สูงขึ้น
“ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นต้นทุนผลิตไฟหลักสูงขึ้นตามการผันแปรน้ำมันเตาย้อนหลัง 6 เดือน ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีกจึงทำให้งวดนี้ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 30 กว่าสตางค์ต่อหน่วย แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระไว้ให้จึงทำให้ยังค้างจ่ายอีกประมาณ 30 สตางค์ต่อหน่วย” นายดิเรกกล่าว