“คมนาคม” จ่อเสนอ ครม.ทบทวนมติจ่ายชดเชยเสียงสุวรรณภูมิใหม่ ชี้เดิมมีหลายมติประชาชนสับสนทำให้จ่ายเงินล่าช้า “ชัชชาติ” ระบุถ้าชดเชยเฟสแรกไม่จบไม่อนุมัติรันเวย์ 3 ด้าน ทอท.เตรียมชงบอร์ดเห็นชอบแผนลงทุนก่อนเดินหน้าเสนอคมนาคมและ สศช. ยันจ่ายชดเชยเสียงเกือบครบแล้ว เร่งทำความเข้าใจ มั่นใจไม่มีต่อต้านแรง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า ยังมีความกังวลเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากติดปัญหาการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินการในระยะที่ 1 ไม่เรียบร้อย ซึ่งหากไม่สามารถชดเชยส่วนนี้ได้ครบก่อนรันเวย์ที่ 3 คงยังไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งพบว่าปัญหาที่ทำให้การชดเชยล่าช้าเนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องการชดเชยหลายครั้งทำให้ประชาชนสับสน ซึ่งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเสนอ ครม.เพื่อหาข้อยุติการชดเชยที่ทุกฝ่ายยอมรับอีกครั้ง
“ถ้าชดเชยเสียงเฟสแรกไม่จบคงอนุมัติรันเวย์ 3 ให้ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาเพราะมีมติ ครม.หลายครั้งและกลับไปกลับมา ก็ต้องหาข้อยุติให้ได้ก่อน และหากต้องใช้ค่าชดเชยเพิ่มขึ้นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ หากให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนรับภาระคงไม่ไหว ซึ่งยืนยันว่ารันเวย์ที่ 3 มีความจำเป็นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยการที่เปิดใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองเต็มรูปแบบเป็นส่วนช่วยลดแออัดของสุวรรณภูมิได้ระดับหนึ่ง” นายชัชชาติกล่าว
ด้านนายสมชัย สวัสดีผล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท.กล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท.จ่ายชดเชยผลกระทบด้านเสียงไปแล้วทั้งสิ้น 3,784.871 ล้านบาท คืบหน้ารวมประมาณ 80% โดยมีอาคารที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 29 พ.ค. 50 และ 31 ส.ค. 53 รวมทั้งสิ้น 16,317 อาคาร แบ่งเป็นพื้นที่ NEF มากกว่า 40 จำนวน 641 อาคารชดเชยแล้ว 573 อาคาร วงเงิน 751.521 ล้านบาท พื้นที่ NEF 30-40. จำนวน 15,676 อาคาร ชดเชยแล้ว
12,605 อาคาร วงเงิน 2,526.814 ล้านบาท และพื้นที่อ่อนไหว 22 แห่ง วงเงิน 506.536 ล้านบาท โดย ครม.อนุมัติกรอบวงเงินชดเชยไว้ที่ 11,233 ล้านบาท แต่คาดว่าจะใช้ได้ไม่เกิน 5,000 ล้านบาทเนื่องจากมีบางส่วนขอชดเชยเป็นการปรับปรุงแทนการขาย
“ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดปัญหาติดต่อหรือตามหาเจ้าของบ้านไม่พบ ไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งเหลือจำนวนไม่มากแล้ว”
ส่วนการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 นั้นคาดว่าจะเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ได้ในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อรับทราบ และเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาต่อไป โดยจะศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนเปิดประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมา ซึ่งขั้นตอน EIA จะดำเนินการในปี 56-57 โดย ทอท.จะเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนการชดเชยเชื่อว่าจะดำเนินการได้เร็วกว่าเฟสแรกเพราะมีประสบการณ์ในกระบวนการขออนุมัติและการจ่ายเงิน
โดยรันเวย์ที่ 3 จะรองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 76 เที่ยวบิน/ชม. เป็น 88 เที่ยวบิน/ชม. หรือจาก 375,000 เที่ยวบิน/ปี เป็น 439,804 เที่ยวบิน/ปี มีวงเงินรวม 15,442 ล้านบาท เป็นค่าชดเชยผลกระทบทางเสียง 7,854 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 4,941 ล้านบาท ค่าปรับปรุงแบบ 30 ล้านบาท การศึกษาประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) 30 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาโครงการ 77 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง 123 ล้านบาท