xs
xsm
sm
md
lg

“อารักษ์” แฉม็อบต้านปรับราคา “แอลพีจี-เอฟที” มีเบื้องหลัง เชื่อถูกเลื่อยขาเก้าอี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อารักษ์” ฉุนม็อบประท้วงขึ้นราคา “แอลพีจี-ค่าเอฟที” เชื่อมีเบื้องหน้าเบื้องหลังแน่นอน หลังแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อล้วงความจริง คาดเป้าหมายหวังเลื่อยขาเก้าอี้ รมต. เตรียมรับมือ 14 ก.ย.นี้ ทวงคำตอบ ลั่นปีหน้าปรับ “แอลพีจี” ราคาเดียวแน่นอน

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายภาคประชาชนที่มาปักหลักชุมนุมประท้วงการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคขนส่ง และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) นั้น ตนเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะมีเบื้องหลังและวาระซ่อนเร้นในการมาชุมนุม เนื่องจากในวันแรกของการชุมนุมตนได้เดินลงไปคุยกับชาวบ้านที่มาชุมนุม โดยที่ไม่มีใครทราบว่าเป็น รมต.พลังงาน และทราบว่าชาวบ้านที่มารวมตัวกันเป็นแค่กลุ่มผู้ที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมและไม่ได้มีเป้าหมายเรียกร้องยกเลิกการขึ้นราคาพลังงานแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ตนไม่ทราบเจตนาของผู้ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุม และที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน แต่หากเป้าหมายต้องการมาชุมนุมเป็นไปเพื่อต้องการโจมตีให้ตนหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจริงคงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะผู้ชุมนุมไม่ใช่กลุ่มที่เดือดร้อนจริง อีกทั้งหากต้องการได้ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่มาแทนจริง จะรู้ได้อย่างไรว่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่า

“ม็อบที่มาปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงพลังงานนั้นผมเชื่อว่าต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง แต่ไม่ใช่ว่าผมจะไม่ให้ความสำคัญ ซึ่งหากมีเหตุผลเพียงพอผมก็รับฟังและพร้อมเจรจา แต่ผมเชื่อว่าคงต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังการมาชุมนุมแน่นอน”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมฯ ได้ประกาศขู่ว่าจะนัดรวมตัวกันหน้ากระทรวงพลังงานอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2555 นี้ หากกระทรวงพลังงานยังไม่มีความชัดเจนตามข้อเรียกร้องที่เสนอไว้นั้นคงต้องให้มีการชุมนุมต่อไป

นายอารักษ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างพลังงาน โดยยืนยันว่าการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีได้แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มขนส่ง และครัวเรือน ซึ่งได้เริ่มขยับราคาในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมและขนส่งไปแล้วนั้น แต่เห็นว่าเป็นแนวทางที่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงมีแนวคิดจะปรับโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ให้เป็นราคาเดียวกัน และปรับไปพร้อมๆ กัน

โดยขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางให้ปรับแอลพีจีเป็นราคาเดียวกันทั้งหมด แต่ต้องมีการชดเชยให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยอาจวัดจากการใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 50 หน่วยต่อเดือนเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยพยายามเร่งดำเนินการให้เป็นราคาเดียวกันภายในต้นปี 2556

ทั้งนี้ หากราคาแอลพีจีทุกภาคเป็นราคาเดียวกันได้ ราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนจะปรับขึ้นอีกประมาณ 100 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม หรือประมาณถังละ 400 บาท ซึ่งหากคำนวณเป็นต้นทุนค่าอาหารจะปรับขึ้นแค่ 50 สตางค์ต่อจาน ดังนั้น การปรับขึ้นราคาจึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าอาหารมากนัก

ส่วนการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) นั้น ขณะนี้ได้เร่งให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ สรุปค่าผ่านท่อให้เสร็จโดยเร็วเพื่อกำหนดราคาเอ็นจีวีต่อไป

ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้ดำเนินโครงการฉลากเบอร์ 5 มา 19 ปีแล้ว และสามารถประหยัดไฟฟ้าได้ 2,600 เมกะวัตต์ หรือประหยัดเงินได้ 48,000 ล้านบาท และสามารลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 40,000 ล้านตัน โดยติดฉลากเบอร์ 5 กับเครื่องใช้ไฟฟ้าไปแล้ว 200 ฉลาก และได้ลงนามความร่วมมือกับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ หลอดแอลอีดี ตู้แช่สินค้า และเครื่องซักผ้า


กำลังโหลดความคิดเห็น